External Parasite

Saturday petdoC
สัปดาห์นี้หัวข้อมาจาก tweet
ที่แมวดื้อเห็นว่าหลายคนยังคงสับสน
ระหว่าง เห็บ – หมัด กันอยู่
ยิ่งถ้าน้องหมาน้องแมวเป็นโรคผิวหนัง
เวลาพาไปหาคุณหมอ
คุณหมอก็อาจพูดถึงตัวไรขึ้นมาอีก
ตกลงมันคืออะไรกันแน่

ก่อนอื่น เรามาแบ่งเป็นชนิดกันก่อน
แปลเป็นภาษาไทยให้เข้าใจกันให้ง่ายขึ้น

Tick คือ เห็บ
Flea คือ หมัด
Louse คือ เหา
Mange คือ ไร (แบบขุดโพรง)
Mite คือ ไร (แบบไม่ขุดโพรง)

สำหรับผู้เลี้ยงสัตว์ ปรสิตภายนอกที่เห็นได้ง่ายที่สุด
ก็คือ เห็บ (Tick) และ หมัด (Flea)

วิธีจำง่ายๆ ก็คือดูลักษณะรูปร่างกับการเคลื่อนไหว
ตามรูป เห็บ (Tick) จะเป็นตัวกลมๆ อ้วนๆ ขาเล็กๆ
ดังนั้น มันจึงเดินช้าๆ หรือเกาะอยู่กับที่
ส่วน หมัด (Flea) จะมีขาหลังยาวๆ คล้ายตั๊กแตนนักวิ่ง
ดังนั้น มันจึงวิ่งเร็วๆ หรือกระโดดดึ๋งดั๋ง
มีการศึกษา ความสูงที่หมัดกระโดดได้นั้นสูงถึง 350 เท่าของความยาวตัวหมัด

นอกจากเห็บและหมัดแล้ว
ในส่วนของเห็บเอง ที่มักพบทั้งเห็บตัวผู้และเห็บตัวเมีย
ก็ทำให้ผู้เลี้ยงเกิดความเข้าใจผิดไปว่าคือปรสิตคนละชนิดกัน

เห็บที่โตเต็มที่ (ระยะที่สาม) จะมองเห็นความแตกต่างระหว่างตัวผู้และตัวเมียค่อนข้างชัดเจน
เห็บตัวเมียจะอ้วนตัวใหญ่กว่า คล้ายเม็ดแตงโม หรือลูกเกด
ในขณะที่เห็บตัวผู้จะตัวเล็กกว่า
บางครั้งเราจะพบเห็นเป็นตัวเล็กๆ เกาะหลังตัวใหญ่อยู่
ซึ่งไม่ใช่แม่ลูกกันแต่อย่างใด
แต่เป็นเห็บตัวผู้และเห็บตัวเมีย เกาะกันเพื่อการผสมพันธุ์นั่นเอง

เห็บ (Tick) และ หมัด (Flea)
เป็นปรสิตที่พบได้บ่อยในบ้านเรา
ส่วนเหา (Louse) นั้นปัจจุบันไม่ค่อยพบเท่าไรแล้ว
เนื่องจากผู้เลี้ยงสัตว์มีการเอาใจใส่ดูแลในระดับหนึ่ง
การอาบน้ำก็ช่วยลดอุบัติเรื่องเหาไปได้

สำหรับเรื่องตัวไร Mange และ Mite
อันนี้ส่วนใหญ่มักมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
เวลาน้องหมาน้องแมว เป็นโรคผิวหนัง
คุณหมอก็มักจะเอาใบมีดมาขูดผิวหนังจนเลือดซิบๆ
แล้วเอาไปส่องกล้องจุลทรรศน์ดู
ว่าเป็นตัวไรหรือไม่
ตัวไรแบบนี้จะเรียกว่า ไร แบบขุดโพรง (Mange)
คือจะชอบขุดโพรงอยู่ใต้ผิวหนัง
ดังนั้นคุณหมอก็เลยต้องขูดผิวหนังจนเลือดออกซิบๆ
เพราะถ้าหากขูดผิวๆ ก็จะไม่เจอไร แบบขุดโพรง (Mange)
ซึ่งอาจมีชื่อเรียกกันต่างไป ตามสปีซีส์
แต่อาจเรียกรวมๆ ตามชื่อโรคที่เกิดขึ้นว่าเป็น “ตัวไรขึ้เรื้อน” ก็ได้
เวลาคุณหมอมาแจ้งผู้เลี้ยง อาจบอกว่าน้องหมาเป็นไรขี้เรื้อนเปียก หรือไรขี้เรื้อนแห้ง เป็นต้น
ส่วน ไร แบบไม่ขุดโพรง (Mite)
ที่พบง่ายที่สุดก็คือ “ไรในหู” (Ear Mite)
โดยเวลาเราเช็ดหูให้น้องหมาน้องแมว เราจะพบขี้หูสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ
อาจเป็นลักษณะเปียกๆ คล้ายดิน หรือเป็นผงๆ คล้ายถ่านก็ได้
หากเพ่งดีๆ หรือเอาแว่นขยายส่อง (ไม่ต้องถึงขนาดกล้องจุลทรรศน์)
เราอาจพบตัวไรในหู ตัวสีเทาๆ เดินอยู่บนขี้หูสีดำก็ได้
ไร แบบไม่ขุดโพรงนี้ มักจะอยู่ที่ผิวๆ ดังนั้นการหมั่นทำความสะอาด
ก็สามารถรักษาได้โดยง่าย

เบื้องต้นหากแยกได้ว่ามันคือตัวอะไรกันแน่
การควบคุม/ป้องกันมันก็จะตามมาเอง
เพราะถ้าหากเข้าใจผิดไปตั้งแต่ต้น การควบคุม/ป้องกันก็จะยิ่งผิดแนวทางไปกันใหญ่