Cost thinking

หากใครที่เป็นแฟน FullMetal Alchemist
น่าจะคุ้นเคยกับ
The Law of Equivalent Exchange
กันดีอยู่แล้ว
กฎการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกัน
เวลาเราซื้อของ
เราได้ของมา
ก็ต้องจ่ายเงินไปในจำนวนมูลค่านั้นเช่นเดียวกัน

ในปัจจุบันเราตีมูลค่าสิ่งต่างๆ
ด้วย “ค่าเงิน”
ถ้าเป็นหน่วยบาท ดอลลาร์สหรัฐ กีบ หยวน เยน
หรืออะไรก็ตามแต่
หากแต่ย้อนไปยังอดีตกาล
ตามที่เราเคยได้ร่ำเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ
เมื่อครั้งโบราณกาลนั้น
เวลาเราจะไปซื้อของ
เช่น
ซื้อผัก ชาวบ้านก็จะเอาผัก (หรือผลไม้) ไปแลก
นั่นก็น่าจะหมายถึงมูลค่าได้เช่นเดียวกัน
แต่แทนที่จะใช้ “ค่าเงิน” ในการตีมูลค่า
แต่ใช้สิ่งเปรียบเทียบอื่นๆ แทน
ตรงนี้อาจจะเป็นเพียงแค่การประมาณคร่าวๆ
โดยใช้ความพึงพอใจ ทั้งผู้ขาย ผู้ซื้อเพียงแค่นั้น

วันนี้แมวดื้อเกิดปิ๊งไอเดีย
เรื่องการตีมูลค่าสินค้าด้วย “งาน” ที่ทำ
ก่อนอื่น เราเข้าใจตรงกันว่า
หากเราไปซื้อของ เราจ่ายด้วย “เงิน”
แต่การที่เราจะได้เงินมานั้น เราต้องทำงานแลกมา
หากเราตีมูลค่าสิ่งต่างๆ ด้วย “งาน”
บางครั้ง มันก็เป็นตัวกระตุ้นแรงขับที่น่าสนใจเหมือนกัน

ยกตัวอย่างการคำนวณ
สมมติว่า มนุษย์เงินเดือนผู้หนึ่ง
ทำงานอยู่ในรูปแบบบริษัท
ทำงานตั้งแต่ 09.00 – 17.00 น.
(วันละ 8 ชั่วโมง)
ทำงานสัปดาห์ละ 5 วัน
(เดือนละ 22 วัน)
ได้เงินเดือน 20000 บาท

20000 / 22 / 8
= 113.6363

นั่นคือผลของการทำงาน 1 ชั่วโมง ได้เงินมา 113.6363 บาท
คิดให้ง่ายเข้า เป็นได้เงินเดือน ชั่วโมงละ 100 บาท

คราวนี้ลองคิดตามนะ

เบียร์หนึ่งเหยือก 300 บาท
ต้องทำงาน 3 ชั่วโมง

เสื้อตัวละ 800 บาท
ต้องทำงาน 1 วัน

อาหารญี่ปุ่นอย่างดี มื้อละ 1200 บาท
ต้องทำงาน 1.5 วัน

กล้องดิจิตอลคอมแพค 5000 บาท
ต้องทำงาน 6.25 วัน

โทรศัพท์มือถือ 15000 บาท
ต้องทำงาน 18.75 วัน

ลองคิดดูว่าในแต่ละวันที่ต้องทำงาน
ต้องแก้ไขปัญหาไปยากลำบากอย่างไร
ต้องทนรองรับอารมณ์ผู้ร่วมงานหรือลูกค้าอย่างไร
ใช้เวลาไปแต่ละชั่วโมงยากอย่างไร
นั่นแหละคือมูลค่าของสินค้าที่เราต้องจ่ายไป

อาจจะมองในแง่ปลอบใจตัวเอง
ว่าการซื้อของ เป็นการให้รางวัลแก่ตนเอง
แต่ก็ควรดูด้วยว่าของนั้นมี “มูลค่า” พอที่เราต้องทำงานแลกมันมาหรือเปล่า
ทำงานครึ่งเดือน เพียงเพื่อซื้อมันมานั่งมองดู 7 วัน แล้วเก็บเข้ากล่อง
มันเหมาะสมหรือเปล่า
การตีมูลค่าด้วย “งาน” อาจจะทำให้มองเห็นคุณค่าของเงินได้ในระดับหนึ่ง