Still Life

การถ่ายรูปอีกแนวหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ
อยากทำได้บ้าง
รู้่ว่าไม่โปร
แต่ก็อยากลองศึกษาดู
บทความจากเว็บไซต์ www.bwthai.org

 

Still-life หรือ Still Life จากคำแปลของ “ศัพท์บัญญติวิชาการถ่ายภาพ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” ปี 2530 ได้ให้ไว้ว่า… “1.ภาพหุ่นนิ่ง, 2.ภาพชีวลักษณ์ หรือภาพเลียนแบบธรรมชาติ”

แต่ผมอยากจะอธิบายว่า Still Life คืออะไร เพื่อที่เราจะได้เข้าใจว่า เราถ่ายภาพแบบ Still Life ไปทำไม เพื่ออะไร และมันควรจะเป็นอย่างไร หรือแสดงให้ผู้ชมเห็นอะไรมากกว่า … นะครับ
ไม่เป็นการยากเลยในการที่เราจะทำความเข้าใจ ในความหมายของมัน หรือแม้กระทั่งในเรื่องของการถ่ายภาพ Still Life และก็สามารถที่จะถ่ายให้ดีได้อีกด้วย ผู้ที่ศึกษาทางด้านศิลปะ มาคงจะเข้าใจกันดีอยู่แล้ว อาจจะมากกว่าผมด้วยซ้ำไป ส่วนใครที่มีภูมิหลังในเรื่องของงานศิลปะอยู่บ้าง หรือว่ามีความเข้าใจในเรื่องศิลปะพอสมควร ก็คงจะเข้าใจมากขึ้นและเร็วขึ้นกว่าผู้ที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนเลย แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่ไม่เคยผ่านในเรื่องของงานศิลปะมาก่อน จะเข้าใจยากกว่า หรือผลิตงานได้ไม่ดีเท่า… จะดีหรือไม่ ในระดับใดนั้น เป็นเรื่องที่ต้องศึกษา หาความรู้กันเอง ไม่มีใครบอกให้ได้ว่า ถ่ายอย่างไรจึงจะดีกว่ากัน

เพื่อที่จะให้เป็นที่เข้าใจง่ายขึ้น สำหรับทุก ๆ คน จึงอยากจะขอเกริ่นที่มา และที่ไปของ Still Life เพียงเล็กน้อย เพื่อที่เราจะได้รับทราบ และเข้าใจจุดประสงค์ของการวาดภาพ หรือการถ่ายภาพ Still Life ว่าทำไปเพื่อเหตุผลอันใดบ้าง…

ในปัจจุบัน ความหมายหรือจุดประสงค์ของการถ่ายภาพ Still Life อาจจะเปลี่ยนไปบ้างแล้ว ก็เป็นได้… เท่าที่ได้อ่านบทความของท่านผู้รู้บางท่าน และจากภาพที่ได้เห็นในการแสดงนิทรรศการ และจากการประกวดหลาย ๆ แห่ง… จะอย่างไรก็ตาม ผมยังมีความรู้สึกเดิม ๆ ของการถ่ายภาพ Still Life อยู่ และก็ยังถ่ายภาพตามเดิมอยู่

Still Life เป็นงานที่เริ่มมาจากภาพวาด และภาพเขียน (Painting และ Drawing) ตั้งแต่ในสมัยศตวรรษที่ 15 แต่มาโด่งดังเอาเมื่อในช่วงศตวรรษที่ 17 โดยเหล่าจิตกรชาว Dutch ที่เลื่องลือในฝีมือ และที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการใช้แสง และการจัด (Lighting and Composition) ที่เรียกกันว่า Dutch Masters ซึ่งได้ผลิตงานที่มีความสวยงามเอาไว้มากมาย ในงาน Still Life อันแสดงให้เห็นถึงความสามารถ และความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความเข้าใจในสิ่งที่จะวาด ในเรื่องของการจัดองค์ประกอบ และในเรื่องของการใช้พื้นที่ ซึ่งทำได้ดีกว่าจิตรกรชาติอื่นๆ ในยุคนั้น สมัยนั้นอย่างมาก

งาน Still Life ที่ดีย่อมขึ้นอยู่กับรสนิยม การวางแผนล่วงหน้า และในเรื่องของการเลือก Subject, Background, Composition และ Lighting ที่ดีครับ… แม้ว่าการถ่ายภาพ Still Life จะเป็นเรื่องของการ จัด/สร้าง ฉากขึ้นมา แม้ทุกสิ่งทุกอย่างจะอยู่ภายใต้การตัดสินใจ และการควบคุมของช่างภาพทั้งหมดทั้งสิ้น แต่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถทำได้เหมือนกันหมด หรือแม้แต่จะได้ทีเท่ากัน ถึงแม้ว่าจะเป็นการถ่ายภาพของสิ่งเดียวกันก็ตาม ดังนั้น การถ่ายภาพในสาขานี้จึงอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นหนึ่งในสาขาที่มีความยากก็ว่าได้ เพราะว่าจะได้มาถึงตรงนี้ นักศึกษา หรือผู้ที่มีความสนใจทางด้านการถ่ายภาพทุกคน จะต้องเรียนรู้ และ ได้ผ่านมาแล้วในเกือบจะทุกสาขาของการถ่ายภาพ และจะต้องนำความรู้ในทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้เรียนรู้และศึกษามา มาใช้ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ

การจัดเลือหาสิ่งของมาจัดถ่าย (Objects)
ความรู้ และเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่จะถ่าย (Subject)
ความสามารถในการผูกเรื่องของสิ่งของที่มี (Narrative/Telling Story)
ความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอภาพ (Creativity)
ความสามารถในด้านการจัดองค์ประกอบ (Arrangement)
ความรู้และความสามารถในด้านการจัดสร้างภาพ (Composition)
ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ในฉาก (Space)
ความเข้าใจในเรื่องการสร้างมิติ (Dimension/Perspective)
รู้จักและเข้าใจในเรื่องแสงเป็นอย่างดี (Lighting)
รู้จักและเข้าใจพื้นผิวของวัสดุที่นำมาใช้ใน Set (Textures and Surface)

เนื่องจากการใช้ฟิล์มต่างกับการใช้สี ช่างภาพจะต้องเข้าใจในเรื่องของฟิล์ม ว่าจะสามารถเก็บรายละเอียด ในส่วนสว่าง (Highlights) และในส่วนเงา (Shadows) ได้มากน้อยเพียงไร ฟิล์มและเลนส์ที่จะใช้ในการถ่าย มีความสามารถในการเก็บรายละเอียด ในส่วนที่กล่าวมาได้มากน้อยเพียงไร ความสั้น-ยาวของเลนส์ จะมีผลอย่างไรต่อมุมมอง ยังมีเรื่องความคลาดเคลื่นของสี (Colour Cast) ของสิ่งที่จะถ่ายมาเกี่ยวข้องอีกด้วย และหากว่าใช้ Background ที่มีความซับซ้อน ทั้งในเรื่องของสี และลวดลาย (Pattern) ความต่างกันทั้งรูปร่าง ขนาด สี ของสิ่งที่จะถ่าย จะให้น้ำหนักในการมองต่างกัน และเมื่ออยู่ใน Set เดียวกันแล้ว ก็จะต้องมีความหมาย หรือมีเรื่องราวที่เข้ากันเสมอไป

เรื่องของการให้แสงในการถ่ายภาพ Still Life ก็เช่นเดียวกันกับงานจิตรกรรม ส่วนใหญ่จะเป็นแสงนุ่ม มาจากด้านข้าง ประมาณ 45 องศา เพื่อที่จะได้สาดส่องแสดงให้เห็นถึง Texture และ Surface รวมทั้ง Shape และ Form ของ Object/Subject ด้วย สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ เงาจากของชิ้นหนึ่ง เมื่อไปทาบกับของอีกชิ้นหนึ่ง ก็ไม่ควรจะมืดจนมองไม่เห็นรายละเอียดของชิ้นที่ถูกทาบ ในบางครั้งอาจจะมีการใช้แสงที่ค่อนข้างแรงในบาง Set ซึ่งจะให้เงาที่เข้ม มีขอบชัดเจน แต่ก็มักจะใช้กับการถ่ายสิ่งที่อยู่ใน Set เล็ก หรือต้องการใช้เงาเป็นส่วนหนึ่งของ composision หากมีความเข้าใจในการใช้ Reflectors ประเภทต่างๆ ความเข้าใจในเรื่องของการชั่งน้ำหนักของแสงด้วยสายตา และความเข้าใจในเรื่องของมุมตก และมุมสะท้อนของแสง ก็ช่วยให้ช่างภาพผู้นั้นได้เปรียบในการผลิตงาน กว่าผู้อื่น… อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะมีฝีมือระดับใด ก็สามารถที่จะถ่ายภาพ Still Life ได้ด้วยกันทุกคน หากให้ความสนใจกับสิ่งที่กล่าวมาแล้วนี้… ส่วนจะดีในระดับใด ก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และความเข้าใจของแต่ละคนไป

เนื่องจากวิชาการถ่ายภาพ เป็นเรื่องของการลอกเลียนแบบมาจากภาพเขียน ดังนั้น การศึกษาวิชาการถ่ายภาพ ในทุกสาขาในสถาบันที่มีการสอนการถ่ายภาพเป็นวิชาหลัก ในระดับปริญญาในต่างประเทศ จึงต้องให้นักศึกษา ได้ศึกษาเกี่ยวกับประวัติความเป็นไป และที่มาของงานศิลปะประเภทต่างๆ (History of Art) ของแต่ละยุค แต่ละสมัย ตั้งแต่สมัย Ranaissance (ศตวรรษที่ 14 – 16) เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาของงาน และมุมมองของจิตรกร อีกทั้งรสนิยมของประชาชน… นักศึกษาที่เลือกเรียนการถ่ายภาพแขนง Still Life จำเป็นที่จะต้องเรียนวิชาบังคับ ที่ไม่เกี่ยวกับการถ่ายภาพเพิ่มขึ้นอีก 2 วิชาคือ ภาพวาดและภาพเขียน นอกเหนือไปจากวิชาประวัติศาสตร์ของงานศิลปะ เพื่อที่จะได้เข้าใจในเรื่องของ Perspective การตกและการสะท้อนของแสง การสะท้อนแสงของสีต่างๆ ใน Set ในเรื่องของน้ำหนักของโทนในส่วนของ Shadows ฯลฯ และผู้ที่จะเรียนถ่ายภาพ Food Photography ก็จะต้องผ่านการเรียน Still Life Photography มาแล้วอย่างน้อยหนึ่งปี

การสร้างงาน Still Life ของจิตรกร ในสมัยโน้น ก็คือการสร้าง Portfolios ให้กับตัวเองนั้นเอง มันเป็นการแสดงให้ลูกค้า หรือผู้ที่จะมาว่าจ้าง ได้เห็นถึงความสามารถของจิตรกรผู้นั้น ว่าความละเอียดในการมอง ความรอบคอบในการจัด หรือใช้สิ่งของ มีความเข้าใจในการสร้าง หรือผูกเรื่องราว รู้จักสร้างความเกี่ยวพันที่ดีของสิ่งของต่างๆ รู้จักจัดองค์ประกอบและ เข้าใจในเรื่องของการให้แสงเป็นอย่างดี… ในส่วนของการถ่ายภาพก็เช่นกัน ช่างภาพก็จะต้องเข้าใจเฉกเช่นเดียวกันกับจิตรกร ดังนั้นเรามักจะเป็นว่าใน Portfolio ของช่างภาพมืออาชีพ จะมีภาพ Still Life ติดอยู่ด้วยเสมอ เพื่อแสดงให้ลูกค้าเห็นถึงรสนิยม ความรู้ และความสามารถของช่างภาพเช่นกัน

Link: www.bwthai.org