วันนี้มาแนวธรรมะกันนิดหน่อย
เพราะรู้สึกมันคาใจยังไงชอบกล
กับคำสั้นๆ ที่เรียกว่า “ทาน”
ทาน แปลว่า การให้ การแบ่งปัน การเสียสละ
การให้ทาน คือการให้ที่ไม่หวังผลตอบแทนโดยหมายให้ผู้ได้รับได้พ้นจากทุกข์ แบ่งออกเป็น ๓ อย่างได้แก่
๑.อามิสทาน คือ การให้วัตถุ สิ่งของ หรือเงินเป็นทาน
๒.ธรรมทาน คือ การสอนให้ธรรมะเป็นความรู้เป็นทาน
๓.อภัยทาน คือ การให้อภัยในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ดีกับเรา ไม่จองเวร หรือพยาบาทกัน
การให้ทานที่ถือว่าเป็นความดี และได้บุญมากนั้นจะประกอบด้วยปัจจัย ๓ ประการอันได้แก่
๑.วัตถุบริสุทธิ์ คือ เป็นของที่ได้มาโดยสุจริต ไม่ได้ไปยักยอกมา โกงมา หรือได้มาด้วยวิธีแยบยล
๒.เจตนาบริสุทธิ์ คือ มีจิตยินดี ผ่องใสเบิกบาน ไม่รู้สึกเสียดายสิ่งที่ให้ ตั้งแต่ก่อนให้ ขณะให้ และหลังให้
๓.บุคคลบริสุทธิ์ คือ ให้กับผู้รับที่มีศีลธรรม ตัวผู้ให้เองก็ต้องมีศีลที่บริสุทธิ์
การให้ทานที่ถือว่าไม่ดี และยังอาจเป็นบาปกรรมถึงเราทางอ้อมอีกด้วยได้แก่
๑. ให้สุรา ยาเสพย์ติด เป็นต้น (ถ้าเขาเมาแล้วขับรถชนตาย เราก็มีส่วนบาปด้วย)
๒. ให้อาวุธ (ถ้าอาวุธนั้นถูกเอาไปใช้ประหัตประหาร บาปก็มาถึงเราด้วย)
๓. ให้มหรสพ คือการบันเทิงทุกรูปแบบ
๔. ให้สัตว์เพศตรงข้ามเพื่อผสมพันธุ์ อันนี้รวมถึงการจัดหาสาวๆ ไปบำเรอผู้มีอำนาจหรือผู้น้อยด้วยเป็นต้น
๕. ให้ภาพลามก หรือสิ่งพิมพ์ลามก เพราะทำให้เกิดความกำหนัด เกิดกามกำเริบ (เมื่อดูแล้วเกิดไปฉุดคร่า ข่มขืนใคร บาปก็ตกทอดมาถึงเราด้วย)
ทานสูตรที่ ๑
[๑๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทาน ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ บางคนหวังได้จึงให้ทาน ๑
บางคนให้ทานเพราะกลัว ๑
บางคนให้ทาน เพราะนึกว่า เขาให้แก่เราแล้ว ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เขาจักให้ตอบแทน ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า ทานเป็นการดี ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เราหุงหากิน ชนเหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่ ชนเหล่านี้ผู้ไม่หุงหากินไม่สมควร ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทาน กิตติศัพท์อันงามย่อมฟุ้งไป ๑
บางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทาน ๘ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑
ทานสูตรที่ ๒
[๑๒๒] ธรรม ๓ ประการนี้ คือ การให้ทานด้วยศรัทธา ๑
การให้ทานด้วยหิริ ๑
การให้ทานอันหาโทษมิได้ ๑ เป็นไปตามสัปบุรุษ บัณฑิตกล่าวธรรม ๓ ประการนี้ว่า เป็นทางไปสู่ไตรทิพย์ ชนทั้งหลายย่อมไปสู่เทวโลกด้วยทางนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๒
ทานวัตถุสูตร
[๑๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทานวัตถุ ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน
คือ บางคนให้ทานเพราะชอบพอกัน ๑
บางคนให้ทานเพราะโกรธ ๑
บางคนให้ทานเพราะหลง ๑
บางคนให้ทานเพราะกลัว ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้มา เคยทำมา เราไม่ควรให้เสียวงศ์ตระกูลดั้งเดิม ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เราให้ทานนี้แล้ว เมื่อตายไปจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑
บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตใจย่อมเลื่อมใส ความเบิกบานใจ ความดีใจ ย่อมเกิดตามลำดับ ๑
บางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่งจิต ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทานวัตถุ ๘ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๓
บางส่วนมาจากพระไตรปิฏก
สิ่งที่ผิดเพี้ยนไป
อาจจะด้วยความไม่รู้
หรือเป็นที่ปฏิบัติการสืบมา
ทำให้ “ทาน” ในปัจจุบัน ไม่ได้เป็น “ทาน” ที่แท้จริง
เมื่อผู้ให้ทานล้วนแต่ “ต้องการ” สิ่งใดสิ่งหนึ่งกลับมา
ฉันให้ของเธอ (หวังว่าเธอจะให้ของฉันบ้าง)
ฉันให้ความรักแก่เธอ (หวังว่าเธอจะให้ความรักคืนกลับมาบ้าง)
ฉันตักบาตร (หวังว่าชาติหน้าฉันจะมีกินมีใช้ดีกว่าชาตินี้)
ฉันให้อภัยเธอ (หวังว่าหากฉันทำผิดบ้าง เธอจะให้อภัยฉัน)
ฉันให้เงินขอทาน (หวังว่าคนอื่นที่บังเอิญเห็น จะมองว่าฉันเป็นคนดี)
ฉันให้ทานพระภิกษุรูปนี้ เพราะที่บ้านเคารพนับถือกัน (หวังการยอมรับในครอบครัว)
ฯลฯ
รวมถึงการขอบริจาคเรี่ยไร ประเภทถึงเนื้อถึงตัว
นั่น…แน่ใจแล้วเหรอ ว่าคือการให้ทานจริงๆ
การให้ทานไม่ใช่เพียงแค่ “ความตั้งใจ” แต่อยู่ที่จิตตั้งมั่นในทานด้วย
หลายคนพยายามไปไหว้พระเก้าวัด แต่พอเสร็จแล้วก็ไม่ได้มีความสบายใจอะไรเลย
หรือเอาง่ายๆ หากเจอขอทานแล้วให้เงิน พอให้เสร็จก็มานั่งคิดว่า เดี๋ยวเขาก็งอกแขนงอกขาเดินกลับบ้าน
สิ่งที่คิดล้วนเป็นอกุศล สู้ไม่ให้ตั้งแต่แรกจิตจะได้ไม่ขุ่นข้องหมองมัว ดีเสียกว่า
วันนี้คุณให้ทาน “ที่แท้จริง” บ้างหรือยัง