Saturday petdoC
สัปดาห์นี้มาคุยกันเกี่ยวกับสังคมอินเทอร์เนทกันนิดนึง
ในช่วง 2-3 สัปดาห์มานี้
มีคุณลูกค้าโทรศัพท์เข้ามาคุยหลายราย
กับปัญหาหนักอก ที่ได้รับจากอินเทอร์เนท
ก่อนจะคุยกันถึงเรื่องข้อมูล
มีเรื่องเกี่ยวกับจรรยาบรรณ หรือจรรยาแพทย์อยู่เล็กน้อย
จรรยาแพทย์ / จรรยาบรรณแพทย์
หากแปลกันแบบชาวบ้าน น่าจะหมายถึง
“ข้อความประพฤติของวิชาชีพทางการแพทย์ที่แพทย์ควรปฏิบัติ”
คำว่าควรปฏิบัติ อาจถูกตีความลึกลงไปว่า “ผิด” หรือ “ทำได้..แต่ไม่ควร”
ซึ่งก็ไปยึดหลักเกณฑ์ต่างๆ ตามที่จะอ้างถึง
แต่หากไม่ผิดตามข้อ “กฏหมาย”
ก็มีสิทธิไปผิดตาม “สิทธิ และ หน้าที่” ของแพทย์
อันสามารถเข้าสู่กระบวนวินิจฉัยการกระทำผิด
ตามหน่วยงานที่สังกัดอยู่
เช่น หากเป็นแพทย์ ก็จะขึ้นกับ แพทยสภา
หากเป็นสัตวแพทย์ ก็จะขึ้นกับ สัตวแพทยสภา
เป็นต้น
สำหรับในทางสัตวแพทย์นั้น
มีข้อกำหนดข้อหนึ่ง ที่บอกไว้ถึง
“การโฆษณา”
เช่นจะไปโฆษณาบอกเจ้าของสัตว์เลี้ยง
ว่าจบด็อกเตอร์มา
หรือเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยชื่อดัง
แบบนี้.. ล้วนแต่ถือว่าเป็นการโฆษณาทั้งสิ้น
ซึ่งหากมองกันแบบลูกทุ่งเลย
คุณหมอที่เรียนจบด๊อกเตอร์ แต่ไม่ค่อยได้ปฏิบัติทางคลินิก
อาจจะมีศิลปะในการรักษาสู้คุณหมอที่เพิ่งจบใหม่ไม่ได้ก็ได้
การรักษา ไม่ได้ใช้เพียงแค่องค์ความรู้แต่เพียงอย่างเดียว
คุณหมอจะต้องทำการปฏิบัติจนเกิดความชำนาญ
และพร้อมรับข้อมูลใหม่ๆ เพราะมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ยาบางตัว สมัยสิบปีก่อนใช้ได้ผลดี ปัจจุบันใช้แล้วได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจก็มากมาย
ดังนั้น..หากมองในมุมของผู้บริโภค (เจ้าของสัตว์เลี้ยง)
การโฆษณา.. ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าหากพาสัตว์เลี้ยงไปทำการรักษา
แล้วจะเป็นที่น่าพอใจ ทั้งสัตว์เลี้ยงและเจ้าของสัตว์
ซึ่งแมวดื้อเน้นตรงสีแดงนะ
สมมตินะ มีคุณหมอท่านนึง เก่งมาก ความรู้แน่นปึ้ก รักษาดี
แต่คุยกับเจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่รู้เรื่อง ทำตัวไม่สุภาพ หรือว่าฉีดยาอย่างเดียว
มาถึงก็จับเข็มแทงจึ้ก แล้วก็เดินจากไป
แบบนี้ เจ้าของสัตว์เลี้ยง ก็จะเกิดความไม่ประทับใจ
สมมติอีกกรณีนึง มีคุณหมออีกท่าน แต่งตัวดี พูดจาเรียบร้อย พูดเป็นหลักการไปเสียทุกอย่าง
แต่รักษามาเป็นหลายเดือน สัตว์เลี้ยงก็มีแต่ทรงกับทรุด
แบบนี้ เจ้าของสัตว์เลี้ยงอาจประทับใจ แต่สัตว์เลี้ยงไม่ประทับใจ เพราะยังคงเจ็บป่วยอยู่อย่างนั้น
ตรงนี้แมวดื้อบอกได้เลยว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก
กับการที่ทำให้ได้ทั้งสองอย่าง
ย้อนกลับไปเข้าเรื่องที่เกริ่นไว้ตอนต้น
การโฆษณา “ไม่ได้ประโยชน์” จากทั้งตัวสัตว์เลี้ยง เจ้าของสัตว์เลี้ยง
รวมถึงอาจจะยังผิดหลักจรรยาบรรณทางสัตวแพทย์อีกด้วย
อ้าว… ต่อไป เวลาคลินิกไหนแปะป้ายโฆษณาไว้
ก็ให้เป็นเพียงแค่คำโฆษณาไว้เพียงเท่านั้น
“ความพอใจ” ที่ได้รับ มันจะไปในทิศทางเดียวหรือตรงกันข้าม ก็อีกเรื่องหนึ่ง
คราวนี้มาต่อกันด้วยข้อมูลทางอินเทอร์เนท
เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด
การตอบคำถามทางเว็บบอร์ด หรือการเขียนเว็บเพจข้อมูลทางสัตวแพทย์
นั้นมีมานานมากแล้ว
แต่ล่าสุดเมื่อถึงโลกของ social network
การใช้ twitter หรือ facebook ก็นับเป็นอีกหนึ่งเส้นทางบนสังคมอินเทอร์เนท
มีทั้ง tweet, facebook page, facebook group เต็มไปหมด
อนึ่ง.. ไม่ว่าจะใช้ social network เพื่อการส่วนตัว
หรือจะใช้เป็นรูปแบบองค์กรก็ตาม
สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ ก็คือเรื่องการโฆษณา
หากมีสัตว์เลี้ยงป่วย แล้วแมวดื้อ tweet ไปว่า “พามาหาแมวดื้อสิ แมวดื้อชำนาญทางด้านนี้”
แบบนี้ผิดจรรยาบรรณทันที เนื่องจากเป็นการโฆษณาเต็มๆ
หรือการเปิด facebook page สถานพยาบาลต่างๆ
สิ่งที่พอจะทำได้ก็คือการประกาศกิจกรรม หรือโปรโมชั่น
การจะไปโฆษณาว่า คุณหมอที่เชี่ยวชาญศัลยกรรมช่องปาก มาอยู่ที่สถานพยาบาลนี้
ก็ผิดเช่นเดียวกัน
สิ่งที่พอจะเป็น “บุญ” ให้แก่บรรดาสัตวแพทย์
ก็คือการทำ “กรรมดี” เอาไว้เยอะๆ
ถ้าคุณลูกค้าและสัตว์เลี้ยง “พอใจ”
ก็จะมีการพูดกันปากต่อปากไปเอง
และจงเชื่อเถิดว่า ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน
หากกรรมดีของเราเพียงพอ ถึงแม้คุณหมอจะไม่ได้อยู่ในละแวกบ้านแล้วก็ตาม
คุณลูกค้าก็จะสืบเสาะไปหาคุณหมอถึงที่จนได้
จบจากเรื่องโฆษณา
มาถึงเรื่อง “การบ่น” ของคุณลูกค้ากันบ้าง
ปัจจุบัน การค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เนทเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็เข้าถึง
หากมีคุณลูกค้าบ่นไว้สักเรื่องนึง
คุณลูกค้ารายอื่น ที่บังเอิญมาอ่านเจอ ก็จะ “เชื่อ” ในสิ่งที่อ่าน แทบจะทันที
จากเหตุบ้านการเมืองที่ผ่านมา
ท่านใดที่ไม่ได้รับข่าวสารด้านเดียว หรือเสพข่าวสารจนเครียดอย่างหนัก
น่าจะพอนึกออกถึง “สงครามข่าวสาร” กัน
ข้อมูลในอินเทอร์เนท มีทั้ง “จริง” และ “ไม่จริง” รวมอยู่ด้วยกัน
การไม่วิเคราะห์ถึงข้อเท็จจริงทำให้เข้าใจผิดไปได้มาก
ลูกค้าแมวดื้อท่านหนึ่งโทรศัพท์มาปรึกษา
เรื่องจะพาสุนัขมีอายุ (มาก) ไปตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ตามคำแนะนำของแมวดื้อ
ลูกค้าท่านนี้หาข้อมูลทางอินเทอร์เนทอยู่หลายวัน
แล้วความเครียดก็บังเกิด
เนื่องจากไปอ่านเจอข้อความว่า
สถานพยาบาลนี้ห่วย.. ทำสุนัขตาย
ลองค้นสถานพยาบาลอื่นอีก.. ก็เจอ “คำบ่น” ทำนองเดียวกัน
ลูกค้าท่านนี้กังวลเป็นอย่างมากกับข้อมูลดังกล่าว
แมวดื้อเอง.. ได้แต่พยายามบอกถึงการวิเคราะห์
และอย่าตกเป็นทาสของข้อมูล
ยกตัวอย่าง
มีสุนัขเสียชีวิต ณ โรงพยาบาลสัตว์แห่งหนึ่ง
กรณีที่ 1
สุนัขมาด้วยอาการปกติ มีอาการคัน เป็นโรคผิวหนัง
คุณหมอตรวจดูแล้วบอกว่า “ข้ออักเสบ”
เดี๋ยวจะทำการวางยาสลบ เพื่อดึงให้ข้อต่อเข้าที่
จากนั้นสุนัขเสียชีวิต
กรณีที่ 2
สุนัขอายุมาก ป่วยเรื้อรังมาได้ประมาณ 1 เดือนแล้ว
เจ้าของสัตว์ทำการรักษาด้วยตนเอง ให้ยามาต่อเนื่อง
อาการไม่ดีขึ้น จึงพามารักษา
คุณหมอเห็นอาการไม่ดี เลยให้น้ำเกลือ กับฉีดยา
จากนั้นสุนัขเสียชีวิต
ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ 1 หรือกรณีที่ 2
หากเจ้าของสัตว์ไม่พอใจ
ก็จะเขียนข้อมูลลงในอินเทอร์เนทว่า คุณหมอทำสุนัขเค้าตาย
แต่ความจริงคืออะไร?
หากเป็นกรณีที่ 1
แบบนี้คุณหมอผิดเต็มๆ การเจ็บป่วยของสุนัขกับสิ่งที่คุณหมอตรวจ
ควรจะต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจกันมากมาย
และการวางยาสลบโดยที่ไม่มีการเตรียมตัวสัตว์นั้น ถือว่าผิดไปเต็มๆ
หากเป็นกรณีที่ 2 สุนัขป่วยเรื้อรังมานาน
อาจจะถึงระยะสุดท้ายแล้ว
ต่อให้ไปสถานพยาบาลไหนๆ คุณหมอก็อาจจะส่ายหัวด้วยกันทั้งสิ้น
คุณหมอไม่ใช่เทวดา ก็ต้องเข้าใจจุดนี้ด้วย
ผู้เลี้ยงสัตว์หลายท่านยังคงไม่ทราบว่า
ในทางการสัตวแพทย์นั้น
ก็มีการฟ้องร้องได้เช่นเดียวกับทางแพทย์
ซึ่งแมวดื้อเห็นด้วยกับกระบวนการตรวจสอบถึงข้อเท็จจริง
หากสัตวแพทย์ทำผิด ก็ต้องว่ากันไปตามนั้น
ข้อความในอินเทอร์เนทนั้นจึงอาจต้องผ่านการวิเคราะห์เสียก่อน