Feline Vaccination Program

Saturday petdoC
สัปดาห์นี้เป็นเรื่องใช้หนี้
จากที่เขียนเรื่องนี้ค้างเอาไว้ตั้งแต่ต้นปี

:roll: :roll:

Feline Vaccination

ตอนนี้หวานใจเลี้ยงแมวกับเค้าบ้าง
ได้เจอคำถามเกี่ยวกับโปรแกรมวัคซีน
ก็เลยมาลองรื้อบล๊อกดู
พบว่าเกริ่นเอาไว้ (นานมาก)
แต่ยังเขียนไม่จบ
ฮ่า..ฮ่า
วันนี้ขอเขียนถึงสักหน่อยก็แล้วกัน

อย่างที่เกริ่นเอาไว้นานมากแล้ว
เกี่ยวกับการทำวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ในแมว
ปัจจุบันผู้เลี้ยงแมวมีความรู้และการดูแลแมวดีขึ้นกว่าแต่ก่อน
ประกอบกับมีวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ มากขึ้น
จากเดิมที่เรารู้จักกันแต่วัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำ (โรคพิษสุนัขบ้า)
ตอนนี้เรารู้จักกับโรคไข้หัดแมว โรคช่องท้องอักเสบ หรือลิวคีเมียในแมว
ก็ทำให้ผู้เลี้ยงแมวมีความสนใจที่จะทำวัคซีนเพื่อป้องกันโรคต่างๆ ให้กับน้องเหมียว

วัคซีนป้องกันโรคในแมวนั้น หากแบ่งกันง่ายๆ อาจแบ่งได้เป็นสองกลุ่ม
ได้แก่วัคซีนปัองกันโรคที่แนะนำให้ฉีด และวัคซีนป้องกันโรคตัวเลือก
โดยมีข้อพิจารณาแยกย่อยออกไป ตามลักษณะการเลี้ยงดู
โดยทั่วไปสัตวแพทย์มักจะแนะนำให้พาน้องเหมียวไปทำวัคซีน..

1.วัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำ (โรคพิษสุนัขบ้า)
อันนี้ถือว่าจำเป็น เพื่อป้องกันโรคที่ติดจากสัตว์สู่คน (zoonosis)
ปลอดภัยทั้งน้องเหมียว ปลอดภัยทั้งคนเลี้ยง
สบายใจกันทั้งสองฝ่าย อย่าลืมทำวัคซีนกันนะ
(สำหรับผู้เลี้ยงสัตว์ แนะนำให้ทำวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เช่นเดียวกัน)

2.วัคซีนป้องกันโรคในกลุ่มระบบทางเดินหายใจ
อันประกอบไปด้วย
วัคซีนป้องกันโรคไข้หัดแมว
วัคซีนป้องกันโรคหวัดติดต่อ
และ
วัคซีนป้องกันโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ
ทั้งสามโรคนี้เกิดจากเชื้อคนละตัวกัน
ลักษณะการก่อโรคอาจจะเป็นโรคใดโรคหนึ่ง หรือเป็นหลายๆ โรคพร้อมๆ กันก็ได้
ยิ่งติดเชื้อหลายๆ ตัว ก็จะยิ่งแสดงความรุนแรงของโรคมากยิ่งขึ้น
โดยส่วนตัว แมวดื้อมักจะพบน้องเหมียวมี “อาการ” ของโรคผสมกัน 2-3 ชนิด
มากกว่าอาการของโรคใดโรคหนึ่ง
ปัจจุบันวัคซีนในกลุ่มนี้จะรวมไว้ด้วยกัน
ดังนั้นจึงอาจเรียกเป็น “วัคซีนรวม” ในแมว

แนะนำให้พาน้องเหมียวที่บ้านไปทำวัคซีนสองตัวนี้นะ

คราวนี้มาดูวัคซีนตัวอื่นๆ กันบ้าง
แมวดื้อมักจะเรียกเป็นวัคซีนโรคตัวเลือก
เพราะขึ้นอยู่กับลักษณะการเลี้ยงดูเป็นหลัก
หากเลี้ยงในลักษณะที่ไม่มีทางที่น้องเหมียวจะมีโอกาสเจอแมวตัวอื่นเลย
(หรือที่เรียกกันว่าระบบปิด)
เราก็อาจ “เลือก” ที่จะไม่ทำวัคซีนโรคเหล่านี้ให้กับน้องเหมียว
แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องไม่มีทางที่น้องเหมียวที่บ้านจะได้เจอตัวอื่นเลยนะ
โรคติดต่อที่สำคัญในแมวนั้นมักจะอยู่ในน้ำลาย (ของแมวตัวที่มีเชื้อ)
ดังนั้นเราจะพบว่า แมวตัวผู้ที่ไม่ค่อยอยู่บ้าน ชอบออกไปเที่ยวหลายๆ วัน
ออกไปหาสาว ออกไปลุย (กัดกัน) กับตัวผู้อื่นๆ กลับมาบ้านแผลตามตัวเต็มไปหมด
มักจะพาโรคกลับเข้าบ้านมาด้วย

1.โรคลิวคีเมีย
วัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมียนี้มีข้อแนะนำและพิจารณาพอสมควรเลยทีเดียว
ลูกแมวอายุน้อยไม่ควรฉีด
แมวที่มีอายุเกิน 4 เดือนไปแล้วควรทำการเจาะเลือดตรวจเสียก่อน
เนื่องจากมีการศึกษาพบความเกี่ยวเนื่องไปถึง Sarcoma
ยิ่งถ้าทราบประวัติพ่อแม่ว่าเคยทำวัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมียหรือไม่
จะช่วยในการพิจารณาได้ค่อนข้างมาก

2.โรคช่องท้องอักเสบติดต่อ
จริงๆ โรคนี้มีมานานแล้ว แต่ผู้เลี้ยงแมวหลายท่านเพิ่งมาให้ความสำคัญกัน
แม้ว่าผลของการทำวัคซีนจะกระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานในระดับต่ำ
(บางกรณีอาจไม่สามารถป้องกันโรคได้)
แต่ก็ยังเป็นวัคซีนอีกตัวหนึ่งที่มักจะมีการถามถึงอยู่บ่อยครั้ง

ตารางการทำวัคซีนในแมวนั้นมีมากมาย
ขึ้นอยู่กับความเห็นของคุณหมอหรือระบาดวิทยาในแต่ละพื้นที่
สำหรับแมวดื้อเองมักจะแนะนำเป็นแบบนี้

1.การทำวัคซีนแบบ minimal recommend
คืออย่างน้อยที่สุด แนะนำให้พาน้องเหมียวไปทำวัคซีนแบบนี้

• อายุ 2 เดือน
ฉีดวัคซีนรวม เข็มแรก
• อายุ 3 เดือน
ฉีดวัคซีนรวม เข็มที่สอง และวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำ
• จากนั้นฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำทุกปี ปีละหนึ่งครั้ง

แบบนี้ผู้เลี้ยงแมวจะรู้สึกว่าไม่ต้องพาน้องเหมียวไปหาคุณหมอบ่อยๆ
จำง่าย และ น้องเหมียวจะได้ไม่เครียด ไม่เจ็บตัว (มาก) ด้วย

2.การทำวัคซีนแบบ full recommend
เนื่องจากมีวัคซีนที่ต้องทำค่อนข้างเยอะ
และควรจะต้องกระตุ้นซ้ำในวัคซีนทุกชนิด
ก็เลยร่นระยะความห่างเข้ามา เพื่อให้ได้ครอบคลุมช่วงเวลาของวัคซีนแต่ละตัว
ยกตัวอย่างเช่น
วัคซีนโรคกลัวน้ำ (โรคพิษสุนัขบ้า) ควรทำเมื่ออายุ 3 เดือน
ไม่ควรทำวัคซีนในอายุเด็กกว่านี้
(ทำวัคซีนเร็วเกินไป การตอบสนองภูมิคุ้มกันไม่ดีนัก)
และไม่ควรทิ้งไว้นานเกินกว่าอายุ 3 เดือน
(เพราะร่างกายจะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้แล้ว จะมีความเสี่ยงหากมีโอกาสสัมผัสโรค)

หรือวัคซีนป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักสบ ที่ควรทำวัคซีนเมื่ออายุ 4 เดือน
ส่วนวัคซีนรวม และวัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมียนั้นสามารถปรับ ขยับให้เหมาะสมได้

ถ้าจะต้องทำวัคซีนทุกอย่าง แมวดื้อจะแนะนำดังนี้

• อายุ 8 สัปดาห์
ทำวัคซีนรวม เข็มที่หนึ่ง
• อายุ 10 สัปดาห์
ทำวัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมีย เข็มที่หนึ่ง
• อายุ 12 สัปดาห์
ทำวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำ (โรคพิษสุนัขบ้า) เข็มที่หนึ่ง และวัคซีนรวม เข็มที่สอง
•  อายุ 14 สัปดาห์
ทำวัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมีย เข็มที่สอง
• อายุ 16 สัปดาห์
ทำวัคซีนป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อ เข็มที่หนึ่ง
• อายุ 20 สัปดาห์
ทำวัคซีนป้องกันโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบติดต่อ เข็มที่สอง
• อายุ 24 สัปดาห์
ทำวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำ (โรคพิษสุนัขบ้า) เข็มที่สอง
• จากนั้นกระตุ้นวัคซีนทุกปี ปีละหนึ่งครั้ง

ซึ่งจะเห็นได้ว่าตั้งแต่เป็นลูกแมว จนถึงอายุประมาณ 6 เดือน
ได้เจอคุณหมอตลอด ประมาณทุกๆ สองสัปดาห์เลย
อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
ตารางโปรแกรมวัคซีนนั้นอาจปรับเปลี่ยนไปได้บ้าง
ตามพื้นที่ ตามลักษณะการเลี้ยงดู หรือความจำเป็นในการทำวัคซีนแต่ละตัว
ไม่จำเป็นว่าต้องกำหนดตายตัวว่าต้องทำวัคซีนเมื่อนั้นเมื่อนี้
แต่ต้องไม่ลืมว่า “การป้องกัน.. นั้นย่อมมีประสิทธิภาพมากกว่า..การรักษา”
การปรับเปลี่ยนตารางวัคซีนสามารถทำได้ โดยที่ยังต้องคงประสิทธิภาพในการป้องกันโรค
ไม่ใช่เป็น “ความจำของผู้เลี้ยง” นึกขึ้นได้ก็พามาทำวัคซีน
ช่วงไหนยุ่งก็ไม่ได้พาน้องเหมียวไปทำวัคซีน
แบบนี้ก็อาจไม่ดีเท่าใดนัก

:lol: :lol: