Saturday petdoC
สัปดาห์นี้มาคุยกันถึงเรื่องเบาๆ กันบ้าง
คุณผู้เลี้ยงแมวอาจจะเคยพบว่าตัวเองมีลักษณะวงๆ แดงๆ บนผิวหนัง
อาจเป็นตามแขน ต้นขา หรือบริเวณใบหน้า
บางครั้ง น้องเหมียวที่บ้านก็เป็นลักษณะคล้ายๆ กัน
หากแต่ถ้าเป็นแมวขนยาว ก็จะไม่ค่อยเห็นจากภายนอกมากนัก
ต้องแหวกขนดูกันใกล้ๆ นั่นแหละ
แต่น้องเหมียวบางตัวก็ตรวจแล้วไม่พบอะไรนะ
ลักษณะที่พบในผู้เลี้ยงนั้น อาจจะต้องแยกก่อนว่าเป็นแบบไหน
A. เป็นตุ่มนูนเล็กๆ
B. เป็นวงแดง
หากเป็นแบบตุ่มนูนเล็กๆ คล้ายเวลาโดนยุงกัด
ก็อาจเป็นยุงกัดได้จริงๆ
หรืออีกกรณีหนึ่งก็คือผู้ที่เป็นภูมิแพ้ หรือไวต่อตัวเห็บหมัด ก็จะเกิด
“อาการแพ้”
หากไปพบแพทย์ต้องอย่าลืมบอกประวัติว่าเราเลี้ยงน้องหมาน้องแมวอยู่ด้วย
หรือมีประวัติการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงเหล่านี้
คราวนี้ หากเป็นวงแดงๆ แบบในรูปข้างบนล่ะ
ขอแสดงความยินดีด้วย
คุณติด “เชื้อรา” เป็นที่เรียบร้อย
ลักษณะที่พบในคนนั้นจะเป็นวงแดง ตรงกลางอาจแข็งๆ
และลาม (แผ่) ไปรอบๆ ได้ง่าย ยิ่งเกายิ่งลาม ว่างั้นเถอะ
วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือ ห้ามเกา!!
ล้างทำความสะอาดและพยายามทำให้แห้งไว้เสมอ
หากไม่ดีขึ้น ให้ไปปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้รีบรักษา ก่อนจะลุกลามไป
ซึ่งสุดท้ายอาจฝากรอยดำด่างด้านไว้บนผิวหนังของคุณ
ส่วนน้องเหมียวที่พบอาการ
ขนร่วงเป็นวง (เหมือนเจ้าของเป๊ะ)
ขนบางบริเวณใบหู เวลาจับขอบหูอาจรู้สึกว่าไม่เรียบ
หรือขนหลุดร่วงไปเลย เผยให้เห็นสะเก็ดแข็งๆ แบบในรูป
ก็ให้ระวังว่าน้องเหมียวอาจจะติดเชื้อรามาแล้ว
แต่เนื่องจากความผิดปกติของผิวหนังในสัตว์เลี้ยงนั้นจะมีอาการคล้ายๆ กัน
ดังนั้นควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยต่อไป
..แต่..
มีการศึกษาพบว่า 20% ของแมวที่ไม่พบอาการทางผิวหนัง
หากตรวจอย่างละเอียดพบเชื้อราอยู่บนผิวหนังด้วย แต่ไม่พบความผิดปกติที่เห็นได้ชัดเจน
ในการวินิจฉัยนั้น
มีการตรวจด้วย wood’s lamp ซึ่งจะเห็นสีวิ้งขึ้นมา
แต่ว่าไม่ค่อยแม่นยำนักเมื่อเทียบกับวิธีอื่น
ปัจจุบัน การขูดผิวหนังตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์
หรือนำไปเพาะเชื้อ เป็นที่นิยมมากกว่า
ตามปกติแล้วเชื้อรามักจะชอบชั้นผิวหนังที่ตายแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นตามขนที่พร้อมจะหลุดร่วงไป หรือตามเล็บ
ลักษณะรอยโรคที่พบ นอกจากขนร่วง เป็นวง หรือพบสะเก็ดแล้ว
ยังพบว่าน้องเหมียวจะค่อนข้างคัน
อาจกินอาหารลดลง เนื่องจากไปใช้กิจกรรมในการเกาเสียมากกว่า
ระยะฟักตัว (ระยะตั้งแต่ได้รับเชื้อจนถึงแสดงอาการ)
ประมาณ 10-14 วัน
ซึ่งบางครั้ง ข้อมูลนี้จะพอบอกอะไรเราได้บ้าง
เช่นพาไปเล่นนอกบ้าน พาไปอาบน้ำที่ร้าน หรือฝนตกเป็นต้น
จะทำให้เราได้ย้อนกลับไปถึงสาเหตุโน้มนำของการติดเชื้อได้
การติดต่อ สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมาก จากการสัมผัส
แต่อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าแค่เราไปสัมผัสน้องเหมียวที่เป็นเชื้อราแล้วเราจะเป็น
หากเป็นเด็กเล็กๆ อาจจะติดง่ายหน่อย เนื่องจากผิวหนังยังคงบอบบาง
ในขณะที่ผู้ใหญ่จะมีการต้านทานมากกว่า
แต่อย่างไรก็ดี การเจ็บป่วย หรือการกินยาบางประเภท
ก็ทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ติดเชื้อราได้ง่ายกว่าที่คิดเหมือนกัน
พอเรารู้แบบนี้แล้ว วิธีควบคุมง่ายๆ ก็คือการลดการแพร่
หากน้องเหมียวเป็นเชื้อราจริงๆ การจำกัดบริเวณก็ช่วยได้มาก
เนื่องจากสปอร์ของเชื้อรานั้นสามารถอยู่บนที่นอน พรม หรือตามสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ได้นานหลายเดือน
วิธีทำความสะอาดที่ได้่ผลคือใช้ผงคลอรีนละลายน้ำหมั่นซักล้าง
อันที่หาง่ายที่สุดก็คือไฮเตอร์นั่นเอง
สำหรับการรักษาของน้องเหมียว
ก็คงต้องให้สัตวแพทย์พิจารณาการรักษาเป็นรายๆ ไป
อาจใช้แชมพูยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อราเชื้อยีสต์ฟอกทิ้งไว้ 5-10 นาที
(ทำวันเว้นวัน หรือ สัปดาห์ละสองครั้ง หรือสัปดาห์ละครั้ง ขึ้นอยู่กับอาการ)
การให้ยากินควรต้องอยู่ในดุลยพินิจของสัตวแพทย์
เนื่องจากยาในกลุ่มนี้มีโอกาสเป็นพิษต่อตับค่อนข้างสูง
ยาบางตัวห้ามใช้ในลูกแมวเล็กๆ หรือแมวตั้งท้อง
ยาบางตัวต้องกินกับอาหารที่มีไขมันสูง
ผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น อาเจียน ท้องเสีย หรือมีการกดการทำงานของไขกระดูก (มีผลต่อเม็ดเลือด)
ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ซื้อมาป้อนเองโดยเด็ดขาด
อย่างไรก็ดี ยาที่ครีมทาฆ่าเชื้อราต่างๆ ก็ไม่ควรใช้เช่นเดียวกัน
เนื่องจากแมวเป็นสัตว์ที่เลียตัวเอง ดังนั้นจึงมีโอกาสได้รับยาเข้าไปทางปากด้วยเช่นเดียวกัน
การใช้แชมพูยาฟอกทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด และเป่าให้แห้ง น่าจะเป็นทางที่ดีกว่า
อนึ่ง การรักษาเชื้อราในแมวนั้นค่อนข้างจะต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร
บางรายหากเป็นมาก อาจใช้เวลา 2-3 เดือนเลยก็มี
ปัจจัยที่จะทำให้การรักษาประสบความสำเร็จ ก็คือการควบคุมสิ่งแวดล้อม
หากสามารถกำจัดเชื้อราในสิ่งแวดล้อมได้ทั้งหมดแล้ว การรักษาที่ตัวแมวจะไม่ยากเลย
(หากแมวไม่ได้ป่วยเป็นภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องนะ)
😮
Thanks Dr.