Saturday petdoC
สัปดาห์นี้ต้องขุดเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ โดยอัพเดตข้อมูลบางส่วนที่เคยเขียนเอาไว้
กล่าวถึงในแนวถามตอบแล้วกันนะ
Question
ฉีดวัคซีนเข็มเดียวได้หรือไม่
Answer
ระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการทำวัคซีนเพียงเข็มเดียวจะขึ้นไม่สูงมากนัก และจะค่อยๆ ลดต่ำลง
ดังนั้นหากมองในแง่ของการป้องกันโรค อาจไม่เหมาะสมนัก
Question
ฉีดวัคซีน 3 เข็มมีอันตรายหรือไม่
Answer
หลักการของวัคซีนเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโดยไม่ได้ทำให้ป่วย
ดังนั้น การทำวัคซีนในขณะร่างกายแข็งแรง มักจะไม่มีอันตราย
นอกเสียว่าจะเกิดปฏิกิริยาการแพ้วัคซีน ซึ่งไม่มีวิธีทดสอบก่อนทำการฉีดวัคซีน
ข้อแนะนำคือให้บันทึกว่าสัตว์มีประวัติการแพ้วัคซีนยี่ห้อใดล็อตการผลิตใด เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้วัคซีนที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาการแพ้ในครั้งต่อไป
และระยะห่างระหว่างการฉีดวัคซีนแต่ละเข็ม ไม่ควรต่ำกว่า 2 สัปดาห์
Image credit: www.eurocatfancy.de
จากรูปแกนกราฟแนวตั้งคือระดับภูมิคุ้มกัน แกนกราฟแนวนอนคือระยะเวลา
จะเห็นว่าภายหลังจากการฉีดวัคซีนเข็มแรก ระดับภูมิคุ้มกันจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และระดับไม่สูงมากนัก
โดยระดับภูมิคุ้มกันนี้มีโอกาสจะสูงหรือต่ำกว่า “ระดับภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันโรค” ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการตอบสนองต่อวัคซีนในสัตว์แต่ละตัว
หากสัตว์ที่มีการตอบสนองต่อวัคซีนดีมาก ก็อาจจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันไปจนถึงระดับที่ “ป้องกันโรค” ได้
แต่อย่างไรก็ดี ระดับภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นแบบนี้จะอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก และลดลงอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดก็จะไม่สามารถ “ป้องกันโรค” ได้
แต่หากได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้น ระดับภูมิคุ้มกันก็จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นนี้จะสูงกว่าระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนในครั้งแรกมาก
ตามทฤษฏี ระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการทำวัคซีนกระตุ้นนั้นจะสามารถ “ป้องกันโรค” ได้ และระดับภูมิคุ้มกันดังกล่าวจะค่อยๆ ลดลง
ในบางโรค ระดับภูมิคุ้มกันอาจอยู่ได้นานหลายปี ในบางโรค ระดับภูมิคุ้มกันอาจลดต่ำลงในระยะเวลาประมาณ 1 ปี
ดังนั้น เพื่อให้เกิดการทำเป็นประจำ และไม่หลงลืม จึงแนะนำให้ทำการกระตุ้นวัคซีน “ทุกโรค” ทุกปี
สำหรับการทำวัคซีนเข็มที่ 3 นั้น สามารถนำรูปนี้มาใช้อธิบายได้เช่นเดียวกัน
คือหากการทำวัคซีน 2 ครั้งแรก ไม่มีปัญหาอะไร การทำวัคซีนครั้งที่ 3 อาจไม่ได้กระตุ้นให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันสูงขึ้น (กว่าครั้งที่ 2)
และอาจไม่ได้ส่งผลให้ระดับภูมิคุ้มกันอยู่นานขึ้น แต่หากบังเอิญการทำวัคซีนครั้งแรก “ไม่ประสบความสำเร็จ” ก็ยังพอจะมั่นใจได้ว่าลูกสัตว์จะมีระดับภูมิคุ้มกันที่จะ “ป้องกันโรค” ได้
เหตุที่ทำให้การทำวัคซีน “ไม่ประสบความสำเร็จ” นั้นอาจเกิดขึ้นได้หลายประการ
อาทิเช่น
วัคซีนที่ไม่ได้คุณภาพ หรือการจัดส่งวัคซีน หรือการเก็บรักษาวัคซีน ไม่เหมาะสม
ควรเก็บวัคซีนในอุณหภูมิที่เหมาะสมตลอดเวลา (จำง่ายๆ ว่าให้แช่เย็น ห้ามแช่แข็ง)
หรือ
ลูกสัตว์อยู่ในภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการทำวัคซีน เช่นอยู่ในช่วงเจ็บป่วย อยู่ในสภาวะเครียด อายุน้อยเกินไป หรือมีพยาธิสภาพต่างๆ
ผู้เลี้ยงสัตว์บางราย นิยมที่จะพาลูกสัตว์ไปทำวัคซีน ในวันที่เพิ่งไปซื้อมาเลย ซึ่งลูกสัตว์อาจเกิดความเครียดจากการเปลี่ยนอาหาร เปลี่ยนคนเลี้ยง เปลี่ยนที่อยู่
ซึ่งอาจส่งผลให้การตอบสนองต่อวัคซีนไม่ดีเท่าใดนัก
Question
วัคซีนที่ควรฉีดในสุนัขมีอะไรบ้าง
Answer
วัคซีนที่ถือว่าจำเป็นเพราะเป็นโรคสัตว์ติดต่อสู่คนคือวัคซีนป้อนกันโรคพิษสุนัขบ้า สามารถให้วัคซีนครั้งแรกเมื่ออายุ 3 เดือน และให้วัคซีนกระตุ้นเมื่ออายุ 6 เดือน หลังจากนั้นให้วัคซีนกระตุ้นทุกปี
สำหรับวัคซีนป้องกันโรคอื่นๆ ในสุนัข มักจะรวมกันมาอยู่ในวัคซีน ซึ่งมีรวมหลายแบบ แล้วแต่บริษัทผลิตวัคซีน บางบริษัทก็มีวัคซีนรวมออกมาหลายสูตร
วัคซีนป้องกันโรคหลักๆ เลยก็จะมี
โรคไข้หัดสุนัข
โรคลำไส้อักเสบ ซึ่งอาจมีทั้งวัคซีนป้องกันโรคลำไส้อักเสบที่เกิดจากเชื้อ “พาร์โวไวรัส” และ “โคโรน่าไวรัส” (วัคซีนรวมบางสูตรก็ป้องกันได้เพียงตัวเดียว)
โรคตับอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส
โรคอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญรองลงไป ได้แก่
กลุ่มอาการ “หวัดและหลอดลมอักเสบติดต่อ” ที่ต้องเรียกว่ากลุ่มอาการ เพราะมีเชื้อโรคหลายตัวที่ทำให้เกิดอาการนี้ และวัคซีนใหม่ๆ ก็พัฒนาให้ป้องกันเชื้อโรคหลายตัวในกลุ่มนี้
โรคเลปโตสไปโรซีส หรือที่เราคุ้นกันในชื่อ “โรคฉี่หนู”
หากจำแบบง่ายๆ ก็แค่ 2 ตัว ก็คือ
1.วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 2.วัคซีนรวม
ที่เหลือก็ปล่อยเป็นหน้าที่ของคุณหมอที่จะพิจารณาเลือกใช้วัคซีนที่เหมาะสม
เทรนด์การฉีดวัคซีนให้แก่ลูกสุนัขในปัจจุบัน (2013)
• ลูกสุนัขพันธุ์เล็ก ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนที่มีส่วนประกอบป้องกันโรคฉี่หนู เพื่อลดปัญหาเรื่องการแพ้วัคซีน
• ลูกสุนัขพันธุ์เล็ก และลูกสุนัขพันธุ์ที่มีหน้าสั้น แนะนำให้ฉีดวัคซีนที่มีส่วนประกอบป้องกันกลุ่มอาการหวัดและหลอดลมอักเสบติดต่อ
Question
ทำไมควรกระตุ้นวัคซีนทุกปี ในเมื่อผลการศึกษาพบว่าระดับภูมิคุ้มกัน “บางโรค” สามารถอยู่ได้นานหลายปี
Answer
เนื่องด้วยวัคซีนในปัจจุบันโดยส่วนใหญ่จะเป็น “วัคซีนรวม” ดังนั้นจึงไม่สะดวกที่จะทำการเลือกวัคซีนแยกเป็นแต่ละโรค
อีกทั้งยังทำให้เกิดความสับสนแก่ผู้เลี้ยงว่าปีนี้ควรกระตุ้นวัคซีนชนิดใด
การให้วัคซีนรวมกระตุ้นทุกปี นอกจากจะลดโอกาสการหลงลืมแล้วยังเป็นการพาสัตว์เลี้ยงมาให้คุณหมอตรวจสุขภาพอีกด้วย
Question
“ไฮ-ไตเตอร์วัคซีน” (High-Titier vaccine) คืออะไร
Answer
คำเก่า (ตั้งแต่ช่วงกลางยุค ’90) ใช้เรียกวัคซีนที่มีการใส่เชื้อเข้าไปเยอะๆ เพื่อหวังผลในการสร้างภูมิคุ้มกัน
อธิบายเพิ่มเติม เอาแบบลูกทุ่งเลยนะ
สมมติว่าแม่สุนัขมีระดับภูมิคุ้มกันที่สูง ลูกสุนัขที่ได้รับนมแม่ในช่วง 72 ชั่วโมงแรกหลังคลอด ก็จะได้รับภูมิคุ้มกันที่ว่านี้ด้วย
คราวนี้ก็มีการศึกษาพบว่า หากเราไปฉีดวัคซีนให้แก่ลูกสุนัขตอนที่มีภูมิคุ้มกัน (จากแม่) ผลตอบสนองต่อวัคซีนจะไม่ดีนัก
เรียกว่าภูมิคุ้มกันที่ได้จากแม่มองวัคซีนว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม และพยายามกำจัดมันออกไป
วิธีการแก้ไขก็คือพัฒนาวัคซีนที่ “แรง…แรง” แบบว่าภูมิคุ้มกันจากแม่กำจัดออกไป “บางส่วน” แล้วก็ยังทำงานได้
ซึ่งในปัจจุบันวัคซีนที่ใช้กันอยู่ ก็สามารถฉีดให้ลูกสุนัขได้ในอายุน้อยมาก (เมื่อเทียบกับสมัยก่อน) เหมารวมแบบคร่าวๆ ไปเลยว่าปัจจุบันใช้วัคซีนไฮ-ไตเตอร์กันหมดแล้ว
แต่ละบริษัทที่ผลิตวัคซีนก็โฆษณาชวนเชื่อแข่งกันว่า วัคซีนของตน “แรง” กว่าของบริษัทอื่น ดังนั้นไม่ต้องไปตามหาหรือรีเควสคุณหมอนะ
Question
วัคซีนที่ควรฉีดในแมวมีอะไรบ้าง
Answer
สำหรับแมวทุกตัวแนะนำให้ทำการฉีดวัคซีน
วัคซีนรวมป้องกันโรคกลุ่มอาการระบบทางเดินหายใจในแมว (ไข้หวัดแมว, ไข้หัดแมวและเชื้อคลามัยเดีย) และวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
Image credit: www.beckeranimalhospital.com
สำหรับแมวที่เลี้ยงปล่อย (อยู่นอกบ้าน)
แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมีย และวัคซีนป้องกันโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องในแมว (เอดส์แมว) เพิ่มเติม
นอกจากในส่วนของวัคซีนแล้ว เทคนิคในการฉีดวัคซีนก็ได้มีการอัพเดตอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าน้องแมวจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือเวลาคุณหมอฉีดวัคซีนสักเท่าไหร่ แต่ก็น่าฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ
วัคซีนรวมป้องกันโรคกลุ่มอาการระบบทางเดินหายในในแมว แนะนำให้ฉีดที่ขาหน้าขวา ไม่แนะนำให้ฉีดบริเวณไหล่แบบสมัยก่อนแล้ว
วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แนะนำให้ฉีดที่ขาหลังขวา
วัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมีย แนะนำให้ฉีดที่ขาหลังซ้าย
ซึ่งนอกจากจะลดความเจ็บปวดจากการฉีดวัคซีนในบริเวณเดียวหลายเข็มแล้ว ยังเป็นการลดปัจจัยที่อาจรบกวนการตอบสนองของวัคซีนได้อีกด้วย