Feline Spay

Saturday petdoC
สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่อง
โดยคุณผึ้งได้คอมเม้นท์ถามเอาไว้ใน Saturday petdoC สัปดาห์ก่อน

หวัดดีค่ะ
สงสัยเรื่องทำหมันน้องแมวอ่ะค่ะ ไม่รู้ว่าจะช่วยตอบได้รึเปล่า

การทำหมันแมวสามารถทำได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่หรอคะ
เพราะถามคลีินิคสัตว์บางที่เค้าก้อบอกว่า 5 -6 เดือน ก้อทำได้แล้ว
แต่พอมาถามอีกที่นึงกลับบอกว่า รอซัก 8 -9 เดือนก่อนดีกว่า
และช่วงก่อนหน้านั้น ก้อให้ฉีดยาคุมไปซักเข็มนึงก่อน ไม่อันตราย
แล้วบอกอีกว่า ถ้าทำหมันตั้งแต่ 5 เดือนซึ่งยังเด็กอยู่ โตขึ้นมาจะทำให้น้องฉี่ขัดได้

ข้อความไหนเป็นจริงอ่ะคะ
ส่วนตัวอยากให้น้องทำหมันตั้งแต่ตอนนี้เลย (อายุ5 เดือน)
เพราะ ชอบหนีไปพบหนุ่มๆ นอกบ้านน่ะค่ะ

ประเด็นนี้น่าสนใจ
เนื่องจากเป็นคำถามที่แมวดื้อได้รับอยู่เสมอ
ส่วนคำตอบนั้นจะเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย
และแมวดื้อเชื่อว่าคุณหมอหลายท่านก็น่าจะเป็นในลักษณะเดียวกัน
มีข้อมูลในส่วนนี้จะปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ด้วยหลายปัจจัย
เรามาค่อยๆ ไล่ดูกันทีละปัจจัย

เริ่มที่ความหมายของการทำหมันกันก่อน
ในสัตว์เพศเมีย การทำหมันหมายถึงการผ่าตัดเอารังไข่และมดลูกออก
ซึ่งรังไข่และมดลูกนั้นจะเป็นอวัยวะหลักที่สร้างฮอร์โมนเพศเมีย
ในทางการสัตวแพทย์นั้น จริงๆ แล้วยังมีการผ่าตัดอีกสองแบบ
นั่นคือการผ่าตัดเอารังไข่ทั้งสองข้างออกอย่างเดียว
และ
การผ่าตัดเอามดลูกออก (ยังคงเหลือรังไข่ไว้)
ซึ่งมีข้อพิจารณาการผ่าตัดเป็นรายๆ ไป
(สำหรับน้องแมว ส่วนใหญ่คุณหมอมักจะเลือกทำแบบผ่าตัดเอาทั้งรังไข่และมดลูกออกทั้งหมด)

ข้อดีของการทำหมันในแมวเพศเมีย

– เพื่อป้องกันอาการเป็นสัด
ผู้เลี้ยงแมวหลายท่านอาจเลี้ยงในคอนโด
เวลาที่แมวเป็นสัดนั้นจะมีการร้องเสียงดัง
บางครั้งอาจไปรบกวนเพื่อนร่วมห้องได้
แถมยังกินเวลาไปถึง 10 วัน
เสียสุขภาพแมวที่เอาแต่ร้องๆ อาจทานอาหารลดลง
ผู้เลี้ยงแมวบางท่านเกิดความรำคาญในพฤติกรรมดังกล่าว

– เพื่อป้องกันการตั้งท้อง
แมวตั้งท้องเฉลี่ยประมาณ 63-65 วัน
ครอกนึงมีลูกแมวเฉลี่ยประมาณ 3-5 ตัว
หลังจากแม่แมวคลอดลูกไปแล้วประมาณ 4 สัปดาห์
ก็พร้อมที่จะกลับสัดได้ทันที (แม้จะยังเลี้ยงลูก – ให้นมลูกอยู่)
ดังนั้นหากแม่แมวแข็งแรงและให้ลูกดกจริงๆ
ภายใน 1 ปี จะมีลูกแมวออกมานับสิบตัว
แมวดื้อเคยได้คุยกับผู้เลี้ยงแมวท่านนึง
เพียงแค่เริ่มต้นจากการเลี้ยงแมว 3 ตัว
2 ปีผ่านไป มีลูกแมวเกิดมาเกือบ 50 ตัว
ซึ่งจะมีปัญหาคุณภาพชีวิตในการเลี้ยงดูแมวอยู่พอสมควร
ทั้งค่าใช้จ่ายเบื้องต้น ค่าอาหารจำนวนมาก
ไหนจะสังคมการอยู่ร่วมกันของแมว อาจมีการต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ หรือแย่งกันเป็นใหญ่

– เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม
ผู้เลี้ยงแมวหลายท่านยังไม่ทราบว่า
น้องแมวนั้นก็มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นเดียวกัน
แม้ว่าอัตราที่พบได้ในน้องแมวนั้นจะน้อยกว่าในสุนัข
แต่ในช่วงการทำงานระยะหลังๆ ของแมวดื้อ ก็พบเคสเหล่านี้บ้าง
(จากแต่ก่อนถือว่าเป็นเคสหายาก)
ซึ่งอาจเพราะปัจจุบันผู้เลี้ยงแมวมีความรู้ ความเข้าใจ
เอาใจใส่ ดูแล เลี้ยงดูจนน้องแมว มีอายุยืนยาวกว่าสมัยก่อนก็เป็นได้
เคสที่แมวดื้อพบว่าป่วยเป็นมะเร็งเต้านมนั้นส่วนใหญ่จะมีอายุ 10 ปีขึ้นไป

– เพื่อช่วยลดความเสี่ยงมดลูกอักเสบ
เมื่ออายุมากขึ้น การทำงานของอวัยวะต่างๆ ก็ลดลง
มดลูกก็เช่นเดียวกัน
เวลาที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในมดลูก
ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรคที่บังเอิญติดเชื้อเข้าไปผ่านทางอวัยวะเพศ
(อาจพบได้กับน้องแมวที่ออกไปทำธุระตามสิ่งแวดล้อม เช่นสนามหญ้าหรือพุ่มไม้)
หรือสิ่งคัดหลั่งที่ร่างกายผลิตออกมา (เป็นผลจากฮอร์โมน)
เมื่อการทำงานของมดลูกลดลง ส่งผลให้เชื้อโรคหรือสิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายในมดลูก
สะสมอยู่ภายใน ระบบต่อต้านสิ่งแปลกปลอมของร่างกายก็จะพยายามกำจัดออก
เกิดเป็นหนองขังอยู่ภายในมดลูก การรักษาที่แนะนำคือการผ่าตัดเอามดลูกออกเท่านั้น

จากข้อดีของการทำหมัน
หากจะครอบคลุมในทุกข้อ
ก็จะย้อนกลับไปยังวิธีการผ่าตัด ในความหมายที่แมวดื้อกล่าวไว้ข้างต้น
การจะลดความเสี่ยงในเรื่องต่างๆ นั้น
อาจจะต้องเลือกใช้วิธีการผ่าตัดเอาทั้งรังไข่และมดลูกออกทั้งหมด
หากทำการผ่าตัดโดยเหลือรังไข่ไว้บ้างส่วน
ก็อาจทำให้เกิดพฤติกรรมเป็นสัดได้อีก เป็นต้น
อย่างไรก็ตามในส่วนพฤติกรรมการเป็นสัด แมวดื้อจะกล่าวอีกปัจจัยหนึ่งในข้างท้าย

จากประสบการณ์แมวดื้อ
ข้อพิจารณาของผู้เลี้ยงแมว ในการที่จะพาน้องแมวมาทำหมัน
ส่วนใหญ่แล้ว เป็นเพราะอยากจะควบคุมประชากร
รองลงมาก็เป็นเรื่องที่น้องแมวเป็นสัดบ่อย (สามารถเป็นสัดได้เดือนละหนึ่งครั้ง)
แต่ละครั้งก็นานเสียด้วย ผ่าตัดทำหมันเลยน่าจะช่วยลดตรงนี้ได้

แต่!!

หากเป็นเมื่อก่อน คุณหมอก็อาจจะยืนยันฟันธงไปได้ว่า
การผ่าตัดทำหมันแล้ว น้องแมวจะไม่แสดงอาการเป็นสัด
หากแต่ในปัจจุบัน คุณหมอหลายท่านก็จะทราบว่า
ตอนนี้ไม่สามารถพูดได้เต็มปาก อีกต่อไปแล้ว
แม้จะมั่นใจว่าได้ทำการผ่าตัดอย่างถูกต้อง
ทั้งรังไข่และมดลูกถูกตัดเอาออกไป
ตรวจเช็คด้วยวิธีการอัลตราซาวน์ยืนยันความถูกต้องก็แล้ว
แต่น้องแมวก็ยังแสดงอาการเป็นสัดอยู่!!

สาเหตุนั้นเนื่องมาจากปัจจัยเสริม
ดังมีคำอธิบายได้ว่า รังไข่นั้นเป็น “อวัยวะหลัก” ในการสร้างฮอร์โมนเพศเมีย
แต่ในร่างกายนั้น ไม่ได้มีเพียงรังไข่ที่สร้างฮอร์โมนเพศเมีย
ร่างกายสิ่งมีชีวิตนั้นมหัศจรรย์ยิ่งนัก
เมื่อเราตัดบางอย่างออกไป
จะมีการพยายามทำงานชดเชยสิ่งที่เสียไป
ในน้องแมวบางตัว (แมวดื้อเน้นว่าบางตัวนะ)
หลังจากทำการผ่าตัดทำหมันไปแล้ว
อาจแสดงอาการเป็นสัดได้ต่อไปอีก
แต่เท่าที่สืบค้นประวัติอย่างต่อเนื่อง ในเคสของแมวดื้อเอง
พบว่า ระยะห่างจะค่อยๆ ห่างไปเรื่อยๆ
เช่นจากเดิม แสดงอาการเป็นสัดเดือนละครั้ง เว้นไปเป็นปีละครั้ง แล้วค่อยๆ หายไป
ระยะเวลาในการเป็นสัดก็จะค่อยๆ ลดลง
จากเดิม แสดงอาการเป็นสัดยาวประมาณ 10 วัน
ในรอบหน้า (หากแสดงอาการเป็นสัดอีก) ก็จะเหลือแค่ 4 วัน เป็นต้น

สรุปสั้นๆ ตรงนีก่อนว่า
หากผู้เลี้ยงแมวตั้งใจว่าจะควบคุมประชากร, ลดความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม
หรือลดความเสี่ยงเป็นมดลูกอักเสบ
อันนี้ผ่าตัดทำหมันได้เลย ตรงกับข้อพิจารณาแน่ๆ
แต่ถ้าต้องการจะให้น้องแมว หยุดหง่าวทันที ไม่ร้องอีกต่อไป
อันนี้แมวดื้อคงตอบไม่ได้เต็มปาก แต่สามารถบอกได้ว่า
มีโอกาสที่น้องแมวจะยังมีพฤติกรรมการเป็นสัดอยู่บ้าง
แต่อาการการเป็นสัดน่าจะลดน้อยลงกว่าการไม่ได้ผ่าตัดทำหมัน

ทิปเล็กๆ น้อยๆ ที่แมวดื้อมักจะแนะนำ
กรณีน้องแมวแสดงอาการเป็นสัด
ภายหลังจากการที่ผ่าตัดทำหมันไปแล้ว
ก็คือลองให้อาหารที่มีโปรตีนต่ำๆ ในช่วงที่แสดงอาการเป็นสัด อาจจะพอช่วยได้บ้าง
เหตุผลจากการสร้างฮอร์โมนนั้นจำเป็นต้องใช้โปรตีน
การจำกัดสารอาหารก็อาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่น่าจะพอช่วยได้

== มาถึงคำตอบ ของคุณผึ้ง ==
(กว่าจะมาถึงคำตอบได้)

:shock: :shock:

การผ่าตัดทำหมันนั้น สามารถทำได้ “เร็วที่สุดที่สามารถทำได้”

เมื่อตอนแมวดื้อยังเป็นนิสิตสัตวแพทย์อยู่นั้น
เคยท่องว่า สมัยก่อน (หมายถึงสมัยก่อนแมวดื้อเป็นนิสิตสัตวแพทย์)
จะผ่าตัดทำหมันแมวกันที่อายุประมาณ 1 ปี
แต่พอตอนนั้น (ตอนแมวดื้อเป็นนิสิตสัตวแพทย์)
จะพิจารณาผ่าตัดทำหมันแมวกันที่อายุประมาณ 6 เดือน
ด้วยเหตุผลไม่ใช่ที่ตัวน้องแมว
แต่เป็นที่นวัตกรรมยาสลบ
ที่คุณหมอใช้ระหว่างทำการผ่าตัดนั่นเอง
ยาสลบที่ใช้สมัยก่อนนั้นอยู่ในร่างกายสัตว์ค่อนข้างนาน
บางครั้งน้องแมวนอนหลับไปข้ามคืนกันเลยก็มี
กว่าที่ร่างกายจะขับเอายาสลบออกได้หมดใช้เวลานาน
ในลูกแมว ความสามารถในการขับยาออกน้อยกว่าแมวโต
ดังนั้นจึงเลือกที่จะให้แมวโตเต็มที่สักหน่อย น่าจะเป็นหนทางที่ปลอดภัยกว่า
ไม่ใช่การผ่าตัดสำเร็จลุล่วง แต่น้องแมวหลับยาว ไม่พื้นอีกเลย

:o:o

แต่ด้วยยาสลบใหม่ๆ ที่คุณหมอใช้กัน
เป็นยาสลบระยะสั้น
เรียกว่าถ้าคุณหมอวางยาสลบแล้วมัวแต่โกนขน ทำความสะอาดบริเวณจุดผ่าตัด
เส้นขนทีละเส้น ทีละเส้น
น้องแมวก็อาจจะผงกหัวขึ้นมามองหน้าคุณหมอได้เลย!!

ตอนนั้นท่องเอาไว้ว่า 6 เดือนก็ดูเหมือนจะค่อนข้างเร็วแล้ว

แต่!!

ปัจจุบัน แมวดื้อมีเคสต้อง “ผ่าคลอด” แม่แมวที่อายุเพียง 4 เดือน!!

จะว่าไปแล้วเมื่อเทียบกับคนเราก็มีข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน
เด็กๆ สมัยนี้ โตกันเร็วมาก
วัยรุ่น อาจจะใช้เรียกเด็กๆ อายุ 11-12 ปี กันแล้ว
สมัยก่อน กว่าจะได้รับสิทธิ์เรียกว่าวัยรุ่น ก็ต้อง 17-18 ปี
หรือไม่อย่างเร็ว ก็ต้องทำบัตรประชาชนกันให้ได้ก่อนล่ะ

เมื่อสิ่งมีชีวิตวิวัฒนาการเปลี่ยนไป
ข้อมูลก็อาจต้องได้รับการปรับเปลี่ยนตามเช่นเดียวกัน
เมื่อแมวเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้เร็วขึ้น
ผู้เลี้ยงแมวและคุณหมอ ก็อาจต้องพิจารณาในจุดนี้ด้วย
ไ่ม่เช่นนั้น วัตถุประสงค์ หรือข้อดี ในการผ่าตัดทำหมัน
ในด้านของการป้องกันการตั้งท้อง ก็จะไม่ครอบคลุมอีกต่อไป
หากคุณหมอบอกผู้เลี้ยงแมวว่าให้รอน้องแมวจนอายุ 6 เดือน
ผู้เลี้ยงแมว อาจจะพาลูกแมวที่เกิดมา ไปฝากคุณหมอสักตัวสองตัว ก็เป็นได้

สรุปตรงนี้
เราอาจพิจารณาผ่าตัดทำหมันเร็วกว่าที่เคยเป็นอยู่

คำถามต่อไป
เร็วแค่ไหนถึงจะดี

คำตอบอยู่ที่ข้อพิจารณาของคุณหมอแต่ละท่านแล้ว
ยาสลบที่ใช้ มีความปลอดภัยในลูกสัตว์เพียงใด
แมวที่จะพามาผ่าตัดทำหมัน ร่างกายแข็งแรงปกติหรือไม่
ทำวัคซีน-ถ่ายพยาธิ มาครบถ้วนเรียบร้อยดีหรือไม่ เพื่อจะตัดปัจจัยอื่นๆ ออกไป
(อาจเจาะเลือดตรวจ เพื่อความสบายใจ ทั้งคุณหมอและเจ้าของแมว)
ลักษณะการเลี้ยงแมว เลี้ยงตัวเดียว หรือเลี้ยงรวมกันเยอะๆ
(แมวที่เลี้ยงรวมกันเยอะๆ มีโอกาสที่จะเหนี่ยวนำให้เป็นสัดได้ค่อนข้างเร็ว)
อาหารการกินของน้องแมวเป็นอย่างไรบ้าง
(การให้อาหารคุณภาพต่ำ อาจส่งผลให้เป็นสัดครั้งแรกช้ากว่าปกติ)

ทั้งหมดทั้งมวล
อยู่ที่ข้อมูลที่ผู้เลี้ยงแมวจะนำไปคุยกับสัตวแพทย์เพื่อหาข้อสรุปเป็นรายๆ ไป
ซึ่งอาจไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เนื่องจากมีปัจจัยต่างๆ มากมาย
แนะนำว่าพบกันครึ่งทางดีที่สุด
ผู้เลี้ยงก็มีข้อมูลเกี่ยวกับตัวแมว คุณหมอก็มีข้อมูลที่เกี่ยวกับการผ่าตัด/ยา/การรักษา
เรามาแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เพื่อน้องแมวอันเป็นสุดที่รัก

สำหรับแมวดื้อเอง ถ้าน้องแมวอายุสัก 4 เดือนครึี่งหรือเกือบๆ 5 เดือน
มีน้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัมขึ้นไป
(น้ำหนักน้อยที่สุด ที่คิดว่าพอไหวก็ประมาณ 1.8 กิโลกรัม)
สุขภาพแข็งแรง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
ก็น่าจะสามารถทำการผ่าตัดทำหมันได้อย่างไม่มีปัญหา

:lol::lol:

สำหรับเรื่องการฉีดยาคุมนั้น
โดยส่วนตัวแมวดื้อไม่ค่อยชอบเท่าไหร่
แม้ว่าในทางปฏิบัติอาจจะฉีดไปก่อนหนึ่งเข็ม แล้วค่อยผ่าตัดทำหมันก็ได้
แต่ก็เคยมีรายงานว่ายาคุมนั้น ทำให้เกิดมดลูกอักเสบได้
แม้ว่าจะฉีดไปเพียงเข็มเดียว
หากน้องแมว “พร้อม” ที่จะผ่าตัดทำหมัน
แมวดื้อก็ไม่เห็นมีความจำเป็นจะต้องฉีดยาคุมไว้ก่อน

ส่วนเรื่องปัญหาระบบขับปัสสาวะนั้น
ผู้เลี้ยงแมวหลายท่าน “เชื่อ” ว่าการผ่าตัดทำหมัน
จะส่งผลต่อระบบขับปัสสาวะ
แต่สำหรับแมวดื้อ เคสที่เข้ามารับการรักษาระบบขับปัสสาวะมีปัญหา
สามารถพบได้ทั้งน้องแมวที่ผ่าตัดทำหมันแล้ว และยังไม่ได้ทำหมัน
ในอัตราส่วนพอๆ กัน

:x:x