Feline Dehydration

Saturday petdoC
สัปดาห์นี้มาคุยกันถึงเรื่อง
Feline Dehydration
แปลไปภาษาชาวบ้าน
ก็คือภาวะขาดน้ำในแมว

อาการยอดฮิต
ที่คุณหมอชอบบอกแก่ผู้เลี้ยงแมว
ว่าตอนนี้แมวของคุณมีภาวะขาดน้ำ
ซึ่งผู้เลี้ยงแมวหลายท่านก็เกิดข้อโต้แย้งในใจ
เห็นแมวกินน้ำอยู่ จะขาดน้ำไปได้ยังไง!!

ความต้องการน้ำของแมวนั้น
โดยทั่วไปจะประมาณ 55-70 ml ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน
ถ้าคิดคร่าวๆ อาจใช้ค่า 60 ในการคำนวณ
ยกตัวอย่างเช่น หากแมวน้ำหนัก 3 กิโลกรัม ก็จะต้องการน้ำประมาณ 3*60 = 180 ml ต่อวัน
หากแมวน้ำหนัก 4 กิโลกรัม ก็จะต้องการน้ำประมาณ 4*60 = 240 ml ต่อวัน
ซึ่งหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ก็แค่ประมาณกาแฟแก้วเล็กแค่นั้นเอง

หากใครเลี้ยงแมวแบบใกล้ชิด
จะพบว่าแมวค่อนข้างจะกินน้ำบ่อย
วันนึงประมาณ 10-15 ครั้ง
แต่ละครั้งจะกินน้ำปริมาณ 6-12 ml เท่านั้น
15*12 = 180 ml (โดยเฉลี่ย)
ดังนั้นหากแมวกินน้ำอย่างปกติตามนี้
ก็จะไม่น่าจะเกิดภาวะขาดน้ำแน่นอน

แต่

อย่าเพิ่งเข้าใจผิดนะ
ถ้ากินเข้าไปแล้วไม่สูญเสียเลยจะดีมาก
ซึ่งอย่าลืมว่าแมวเป็นสัตว์ที่ “แต่งตัว”
คือเลียตัวเองอยู่นั่นแหละ
การแต่งตัวนี้ มีการศึกษาว่าจะเสียน้ำ (จากน้ำลาย)
ไปถึง 40 ml ต่อวัน
รวมถึงลักษณะอาหารที่ให้แมว
หากเป็นอาหาร (เม็ด) แห้ง
ก็จะเสียน้ำที่กินเข้าไปครึ่งหนึ่ง (ปริมาณน้ำคิดเป็น 10% ของอาหารแห้งที่กินเข้าไป)
เพื่อการย่อยและดูดซึมสารอาหาร

อธิบายเพิ่มเติม
สมมติแมวกินอาหารเม็ด 100 กรัม มีได้น้ำ 10 ml
แต่จะสูญเสียน้ำไปกับการย่อยและดูดซึมอีกครึ่งนึง
ดังนั้นกินอาหารเม็ด 100 กรัม จึงประมาณคร่าวๆ ว่าจะได้รับน้ำแค่ 5ml
เป็นต้น

หากเป็นอาหารกระป๋อง
แม้ว่าจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง 75-78%
แต่ก็จะมีการสูญเสียถึง 2/3  เลยทีเดียว
นอกจากนี้อาหารที่มีโปรตีนสูง จะทำให้ร่างกายสร้างยูเรียมาก ทำให้ปัสสาวะข้น
แมวก็จำเป็นจะต้องได้รับน้ำมากขึ้นกว่าปกติ
เพื่อไม่ให้ระบบปัสสาวะและไตทำงานมากเกินไป

อีกปัจจัยหนึ่งก็คือแมวเป็นสัตว์ชอบอยู่ในสถานที่อุ่น
ตอนเป็นลูกแมว ก็ชอบนอนกกกับแม่ (แม่ตัวอุ่น)
พอโตขึ้นมา บางตัวชอบนอนบนทีวี หรือข้างตู้เย็น
หากที่บ้านไฮโซหน่อยมีเตาผิง แมวก็จะชอบนอนอยู่หน้าเตาผิง
และการอยู่ในสถานที่แบบนี้ ทำให้แมวต้องสูญเสียน้ำไปกับความร้อนจากสิ่งแวดล่้อมเพิ่มเติม
รวมๆ แล้ว ที่กินเข้าไปยังไม่รู้จะพอหรือเปล่าเลย

อย่างไรก็ตาม ความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของแมว
ก็คือความสามารถในการทำปัสสาวะข้น
ร่างกายดูดน้ำกลับเข้าร่างกาย แทนที่จะขับออกทางปัสสาวะ
สังเกตได้จากความถ่วงจำเพาะปัสสาวะของแมว จะสูงกว่าในสุนัขหรือในมนุษย์
ส่งผลให้เราอาจจะเห็นว่าแมวแทบจะไม่ได้กินน้ำเลยก็ “มีชีวิตอยู่ได้”
แต่การมีชีวิตอยู่นั้น คุณหมอไม่ได้ถือว่าเป็นการดำรงชีวิตอยู่อย่างที่ควรจะเป็น

60-70% ในร่างกายแมวมีน้ำเป็นส่วนประกอบ
หากขาดน้ำเพียงแค่ 10% ก็อาจจะส่งผลให้การทำงานของอวัยะต่างๆ ผิดปกติ

ปัจจัยอื่นๆ นอกจากการได้รับน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ที่อาจจะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำในแมว ได้แก่
ภาวะเบาหวาน
โรคไต
โรคติดเชื้อต่างๆ เช่นไข้หัดแมว
ภาวะช็อค
อาเจียน
ท้องเสีย
ภาวะมีไข้
ภาวะ heat stroke

อาการที่อาจพบได้เมื่อแมวอยู่ในภาวะขาดน้ำ
อ่อนเพลีย
ตาจมลึก
ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น
ปากแห้ง
หัวใจเต้นเร็ว

การแก้ไข หากพบว่าแมวมีภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรงนั้นควรให้สารน้ำ (น้ำเกลือ)
และหาสาเหตุหลัก เพื่อทำการแก้ไขต่อไป
หากปล่อยทิ้งไว้ ก็อาจทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลวได้

แต่หากยังไม่รุนแรงนัก
สิ่งที่ผู้เลี้ยงแมวสามารถทำได้เอง
ได้แก่
พรมน้ำลงบนอาหารเม็ด เพื่อให้แมวได้รับน้ำเพิ่มขึ้น
แต่ต้องคำนึงว่า ควรทิ้งอาหารดังกล่าว
ภายหลังจากพรมน้ำไปแล้ว 1 ชั่วโมง
เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราบนอาหาร

ให้แมวค่อยๆ เลียน้ำแข็ง
สำหรับแมวบางตัวที่ไม่ชอบกินน้ำเยอะๆ
การให้น้ำแข็ง แมวบางตัวถือว่าเป็นของเล่น
จะค่อยๆ เลีย (+แทะ) ไปเรื่อย

หรือการใช้กระบอกฉีดยาค่อยๆ ป้อนน้ำ
ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
แต่ควรกระทำด้วยความระมัดระวัง อย่าฝืนแมวจนเกินไป
และอย่าดันกระบอกฉีดยาแรง อันส่งผลให้แมวสำลัก
และจะไม่ยอมให้ป้อนของเหลวต่่่างๆ อีกเลย

รู้วิธีการสังเกตภาวะขาดน้ำในแมวกันแล้ว
ก็คอยหมั่นดูแลอย่าให้น้องแมวขาดน้ำกันนะ
เพื่อน้องเหมียวจะได้อยู่กับเราไปนานๆ

:smile::smile: