Ringworm in Cats

Saturday petdoC
สัปดาห์นี้มาคุยกันถึงเรื่องเบาๆ กันบ้าง
คุณผู้เลี้ยงแมวอาจจะเคยพบว่าตัวเองมีลักษณะวงๆ แดงๆ บนผิวหนัง
อาจเป็นตามแขน ต้นขา หรือบริเวณใบหน้า
บางครั้ง น้องเหมียวที่บ้านก็เป็นลักษณะคล้ายๆ กัน
หากแต่ถ้าเป็นแมวขนยาว ก็จะไม่ค่อยเห็นจากภายนอกมากนัก
ต้องแหวกขนดูกันใกล้ๆ นั่นแหละ
แต่น้องเหมียวบางตัวก็ตรวจแล้วไม่พบอะไรนะ

ลักษณะที่พบในผู้เลี้ยงนั้น อาจจะต้องแยกก่อนว่าเป็นแบบไหน
A. เป็นตุ่มนูนเล็กๆ
B. เป็นวงแดง

หากเป็นแบบตุ่มนูนเล็กๆ คล้ายเวลาโดนยุงกัด
ก็อาจเป็นยุงกัดได้จริงๆ

:roll::roll:

หรืออีกกรณีหนึ่งก็คือผู้ที่เป็นภูมิแพ้ หรือไวต่อตัวเห็บหมัด ก็จะเกิด
“อาการแพ้”
หากไปพบแพทย์ต้องอย่าลืมบอกประวัติว่าเราเลี้ยงน้องหมาน้องแมวอยู่ด้วย
หรือมีประวัติการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงเหล่านี้

:shock::shock:

คราวนี้ หากเป็นวงแดงๆ แบบในรูปข้างบนล่ะ
ขอแสดงความยินดีด้วย
คุณติด “เชื้อรา” เป็นที่เรียบร้อย
ลักษณะที่พบในคนนั้นจะเป็นวงแดง ตรงกลางอาจแข็งๆ
และลาม (แผ่) ไปรอบๆ ได้ง่าย ยิ่งเกายิ่งลาม ว่างั้นเถอะ
วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคือ ห้ามเกา!!
ล้างทำความสะอาดและพยายามทำให้แห้งไว้เสมอ
หากไม่ดีขึ้น ให้ไปปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้รีบรักษา ก่อนจะลุกลามไป
ซึ่งสุดท้ายอาจฝากรอยดำด่างด้านไว้บนผิวหนังของคุณ

:lol::lol:

ส่วนน้องเหมียวที่พบอาการ

ขนร่วงเป็นวง (เหมือนเจ้าของเป๊ะ)
ขนบางบริเวณใบหู เวลาจับขอบหูอาจรู้สึกว่าไม่เรียบ
หรือขนหลุดร่วงไปเลย เผยให้เห็นสะเก็ดแข็งๆ แบบในรูป
ก็ให้ระวังว่าน้องเหมียวอาจจะติดเชื้อรามาแล้ว
แต่เนื่องจากความผิดปกติของผิวหนังในสัตว์เลี้ยงนั้นจะมีอาการคล้ายๆ กัน
ดังนั้นควรปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อวินิจฉัยต่อไป
..แต่..
มีการศึกษาพบว่า 20% ของแมวที่ไม่พบอาการทางผิวหนัง
หากตรวจอย่างละเอียดพบเชื้อราอยู่บนผิวหนังด้วย แต่ไม่พบความผิดปกติที่เห็นได้ชัดเจน

ในการวินิจฉัยนั้น
มีการตรวจด้วย wood’s lamp ซึ่งจะเห็นสีวิ้งขึ้นมา
แต่ว่าไม่ค่อยแม่นยำนักเมื่อเทียบกับวิธีอื่น

ปัจจุบัน การขูดผิวหนังตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์
หรือนำไปเพาะเชื้อ เป็นที่นิยมมากกว่า

ตามปกติแล้วเชื้อรามักจะชอบชั้นผิวหนังที่ตายแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นตามขนที่พร้อมจะหลุดร่วงไป หรือตามเล็บ
ลักษณะรอยโรคที่พบ นอกจากขนร่วง เป็นวง หรือพบสะเก็ดแล้ว
ยังพบว่าน้องเหมียวจะค่อนข้างคัน
อาจกินอาหารลดลง เนื่องจากไปใช้กิจกรรมในการเกาเสียมากกว่า
ระยะฟักตัว (ระยะตั้งแต่ได้รับเชื้อจนถึงแสดงอาการ)
ประมาณ 10-14 วัน
ซึ่งบางครั้ง ข้อมูลนี้จะพอบอกอะไรเราได้บ้าง
เช่นพาไปเล่นนอกบ้าน พาไปอาบน้ำที่ร้าน หรือฝนตกเป็นต้น
จะทำให้เราได้ย้อนกลับไปถึงสาเหตุโน้มนำของการติดเชื้อได้

การติดต่อ สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมาก จากการสัมผัส
แต่อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าแค่เราไปสัมผัสน้องเหมียวที่เป็นเชื้อราแล้วเราจะเป็น
หากเป็นเด็กเล็กๆ อาจจะติดง่ายหน่อย เนื่องจากผิวหนังยังคงบอบบาง
ในขณะที่ผู้ใหญ่จะมีการต้านทานมากกว่า
แต่อย่างไรก็ดี การเจ็บป่วย หรือการกินยาบางประเภท
ก็ทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ติดเชื้อราได้ง่ายกว่าที่คิดเหมือนกัน
พอเรารู้แบบนี้แล้ว วิธีควบคุมง่ายๆ ก็คือการลดการแพร่
หากน้องเหมียวเป็นเชื้อราจริงๆ การจำกัดบริเวณก็ช่วยได้มาก
เนื่องจากสปอร์ของเชื้อรานั้นสามารถอยู่บนที่นอน พรม หรือตามสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ได้นานหลายเดือน
วิธีทำความสะอาดที่ได้่ผลคือใช้ผงคลอรีนละลายน้ำหมั่นซักล้าง
อันที่หาง่ายที่สุดก็คือไฮเตอร์นั่นเอง

:shock: :shock:

สำหรับการรักษาของน้องเหมียว
ก็คงต้องให้สัตวแพทย์พิจารณาการรักษาเป็นรายๆ ไป
อาจใช้แชมพูยาที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อราเชื้อยีสต์ฟอกทิ้งไว้ 5-10 นาที
(ทำวันเว้นวัน หรือ สัปดาห์ละสองครั้ง หรือสัปดาห์ละครั้ง ขึ้นอยู่กับอาการ)
การให้ยากินควรต้องอยู่ในดุลยพินิจของสัตวแพทย์
เนื่องจากยาในกลุ่มนี้มีโอกาสเป็นพิษต่อตับค่อนข้างสูง
ยาบางตัวห้ามใช้ในลูกแมวเล็กๆ หรือแมวตั้งท้อง
ยาบางตัวต้องกินกับอาหารที่มีไขมันสูง
ผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น อาเจียน ท้องเสีย หรือมีการกดการทำงานของไขกระดูก (มีผลต่อเม็ดเลือด)
ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ซื้อมาป้อนเองโดยเด็ดขาด
อย่างไรก็ดี ยาที่ครีมทาฆ่าเชื้อราต่างๆ ก็ไม่ควรใช้เช่นเดียวกัน
เนื่องจากแมวเป็นสัตว์ที่เลียตัวเอง ดังนั้นจึงมีโอกาสได้รับยาเข้าไปทางปากด้วยเช่นเดียวกัน
การใช้แชมพูยาฟอกทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด และเป่าให้แห้ง น่าจะเป็นทางที่ดีกว่า
อนึ่ง การรักษาเชื้อราในแมวนั้นค่อนข้างจะต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควร
บางรายหากเป็นมาก อาจใช้เวลา 2-3 เดือนเลยก็มี
ปัจจัยที่จะทำให้การรักษาประสบความสำเร็จ ก็คือการควบคุมสิ่งแวดล้อม
หากสามารถกำจัดเชื้อราในสิ่งแวดล้อมได้ทั้งหมดแล้ว การรักษาที่ตัวแมวจะไม่ยากเลย
(หากแมวไม่ได้ป่วยเป็นภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องนะ)