Saturday petdoC
สัปดาห์นี้แมวดื้อหยิบเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ คือเรื่องผลของอาหาร ขนม หรือเครื่องดื่มที่เราบริโภคกัน “บางชนิด” ต่อน้องหมาน้องแมว
เรามักจะพบเห็นภาพตามเว็บไซต์หรือโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ ที่ถ่ายภาพน้องหมาน้องแมวกับอาหาร/เครื่องดื่ม บางประเภท
หากมองในแง่ความสวย ความน่ารักของภาพ แน่นอนว่ามองยังไงก็น่ารัก
แต่หากมองในทางการสัตวแพทย์ แมวดื้อก็นึกถึงด้านสุขภาพของน้องหมาน้องแมวด้วยไม่แพ้กัน
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันมากมาย มีผู้เลี้ยงหลายท่านให้ข้อมูล “ประสบการณ์” ว่าให้อาหาร/เครื่องดื่มเหล่านี้แล้ว
น้องหมาน้องแมวไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด ยังมีชีวิตอยู่ได้ยืนยาว
แมวดื้ออยากให้ข้อมูลเบื้องต้นก่อนว่า
“การศึกษา” และ “ประสบการณ์”
เป็นสิ่งที่แตกต่างกัน
“การศึกษา” มีการทดลอง ทดสอบ มีตัวแปรควบคุม การจดค่าทางสถิติ มีจำนวนสุ่มตัวอย่าง
“ประสบการณ์” เป็นการทดลอง ทดสอบแบบที่ส่วนใหญ่ไม่มีการควบคุมตัวแปร
และไม่มีการจดบันทึกทางสถิติ จำนวนสุ่มตัวอย่างอาจจะน้อย
ผลสรุปอาจจะมีความแตกต่างกัน สำหรับผู้ทำการศึกษา
หากพบว่ามีข้อมูลประสบการณ์ที่มาแย้งผลสรุป ก็อาจต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ในส่วนของผู้เลี้ยงที่มีประสบการณ์ ก็ต้องยอมรับในหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่มีการทดสอบ มีบทพิสูจน์เช่นเดียวกัน
แต่แมวดื้อไม่อยากจะให้เข้าใจในเรื่องนี้แบบสุดโต่งมากเกินไป
ก่อนอื่นเราคงต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่กินเข้าไปมีทั้งดีและโทษ
และไม่ว่าสิ่งนั้นจะมีคุณค่าดีเพียงใด แต่ถ้าร่างกายรับเข้าไปในปริมาณที่ไม่เหมาะสม ก็จะเปลี่ยนเป็นโทษเช่นเดียวกัน
แมวดื้อรวบรวมอาหาร/เครื่องดื่มที่คนเราบริโภคกันทั่วไป แต่ไม่เหมาะสมกับน้องหมาน้องแมว (จากการศึกษา) มาแสดงกันอีกรอบ
อาจมีบางอย่างที่เพิ่มเติมเข้ามา หลายคนยังไม่เคยรู้มาก่อน ลองดูกันนะ
เริ่มกันกับ Chocolate หรือ Cocoa
ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใด หรือส่วนประกอบของอะไร
เรากำลังมองถึงสาร theobromine ที่ส่งผลทำให้อาเจียน, ท้องเสียได้ (อาการพื้นฐาน)
อาการที่รุนแรงขึ้น อาทิเช่น จังหวะหัวใจเต้นผิดปกติ, ชัก, เหยียดเกร็ง ไปจนถึงขั้นเสียชีวิต
baking chocolate หรือที่อาจเรียกว่า unsweetened chocolate (bitter chocolate)
ถูกจัดว่าเป็นอันตรายต่อสุนัขมากที่สุดในกลุ่ม รองลงมาได้แก่ dark chocolate
สำหรับ milk chocolate อาจจะดูเป็นอันตรายน้อยที่สุดในกลุ่ม แต่ก็ไม่ควรให้น้องหมาน้องแมวอยู่ดี
ยิ่งเป็นน้องหมาน้องแมวตัวเล็กๆ (น้ำหนักตัวน้อย) ยิ่งเสี่ยงต่ออาการที่รุนแรง
เนื่องจากปริมาณสารที่ได้รับเข้าไปมากเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว
Sugarless gum
อันนี้แมวดื้อเข้าใจว่าในบ้านเราไม่น่าจะมีคนให้หมากฝรั่งแก่น้องหมาน้องแมวกันนะ
แต่ในฝั่งอเมริกาและยุโรป มีรายงานว่าผู้เลี้ยงหลายคนทน “กลิ่นปาก” น้องหมาน้องแมวไม่ไหว
ก็เลยให้หมากฝรั่งซะเลย
(ไม่รู้คิดได้ไง)
คือถ้าคิดว่าจะให้หมากฝรั่งเพื่อดับกลิ่นปาก มันก็ต้องเคี้ยวไง ถ้าเข้าปากแล้วกลืนไปเลย จะหวังผลดับกลิ่นได้ยังไง
ในคน (ผู้ใหญ่) เอง แม้ว่าอาจจะ (เผลอ) กลืนหมากฝรั่งเข้าไปได้โดยไม่เป็นอันตราย แต่ก็ไม่ได้รับการแนะนำให้บริโภคเข้าไป
แมวดื้อนึกภาพไม่ออกว่า ป้อนหมากฝรั่งให้น้องหมาน้องแมว แล้วบอกให้ “เคี้ยว…เคี้ยว…เคี้ยว”
จากนั้นก็ให้คายออกมาซะ จะมีน้องหมาน้องแมวทำได้แบบนั้นไหม
กลไกในการกำจัดหมากฝรั่งของน้องหมาน้องแมวไม่เหมือนในคน
ในน้องหมาน้องแมว มีโอกาสที่หมากฝรั่งจะเข้าไปอุดตันในระบบทางเดินอาหารมากกว่านะ
อย่างไรก็ตาม การศึกษาไม่ได้มุ่งประเด็นไปที่ยางหมากฝรั่ง แต่กล่าวถึง (สาร) ส่วนประกอบที่อยู่ในหมากฝรั่งมากกว่า
นั่นคือสารเพิ่มความหวานที่ไม่ใช่น้ำตาล (sugar-free sweetener)
อันนี้หมายถึง xylitol ซึ่งพอบอกชื่อนี้ขึ้นมา หลายคนก็อาจจะร้องอ๋อ
เพราะตามหน้าซองลูกอม ขนมบางอย่าง ก็เขียนแปะว่าใช้ xylitol แทนน้ำตาลกัน
“ไม่มีน้ำตาล…ฟันไม่ผุ” โฆษณาชวนเชื่อกันไป
xylitol นัั้นจะกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลิน (Insulin)
อินซูลินที่สูงขึ้น ก็ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง
กลไกการออกฤทธิ์ในสุนัขค่อนข้างเร็ว มีรายงานว่าสุนัขน้ำหนัก 5 กิโลกรัม
ทานหมากฝรั่งไป 2 ชิ้น เพียง 15 นาทีเท่านั้นสามารถช็อคได้เลย
ในส่วนนี้แมวดื้อค่อนข้างห่วงสุนัขพันธุ์จิ๋วทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นชิวาวาหรือปอมเมอเรอเนี่ยน
ที่เรามักจะพบภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำอยู่บ่อยๆ
แล้วหากได้รับ xylitol เข้าไปอีก อาการก็จะยิ่งเกิดขึ้นรวดเร็วและรุนแรง
นอกจากผลทางด้านระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว xylitol ยังส่งผลให้ตับอักเสบอย่างรุนแรงอีกด้วย
Alcohol
อันนี้ก็คงไม่ต้องพูดอะไรมาก เพราะเราต่างจะรู้โทษของมันดีอยู่แล้ว
Ethyl Alcohol จากเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์จะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและระบบประสาทส่วนกลางของน้องหมาน้องแมว
แค่เบียร์หรือไวน์เพียง 1 หยด ก็ทำให้น้องหมาหรือน้องแมว อาเจียน ท้องเสีย (อาการพื้นฐาน)
อาการที่รุนแรงขึ้น คือหายใจลำบาก และอาการทางประสาท
ความรุนแรงจะมากยิ่งขึ้นในน้องหมาน้องแมวที่อายุยังน้อย หรือน้ำหนักตัวน้อย
Yeast dough
อันนี้แมวดื้อเชื่อว่าจะต้องมีข้อโต้แย้งมากมายแน่ๆ ใครๆ ก็ต้องเคยให้ขนมปัง/เบเกอรี่น้องหมาน้องแมว จริงไหม
(แมวดื้อก็ให้)
แต่ในข้อนี้ ไม่ได้หมายถึงขนมปัง หรือเบเกอรี่ที่นำไปอบแล้วนะ ส่วนที่เป็นอันตรายต่อน้องหมาน้องแมวก็คือตัวแป้งที่ยังไม่ได้อบนั่นแหละ
alcohol ที่เกิดขึ้นเป็นผลจากกระบวนการที่ยีสต์นำน้ำตาลไปใช้ (เราใส่ยีสต์เข้าไปให้ขนมปัง/เบเกอรี่ฟู ขึ้นรูปสวย)
แม้จะมีปริมาณ alcohol ไม่สูงมาก แต่ก็อาจเป็นอันตรายต่อลูกสัตว์หรือน้องหมาน้องแมวที่น้ำหนักตัวน้อย เช่นเดียวกัน
ดังนั้นตอนทำขนม ก็ระวังอย่าให้น้องหมาน้องแมวมาแอบชิมเชียวล่ะ
Grapes and Raisins
อันนี้ยังไม่มีข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ว่าองุ่นหรือลูกเกดมีสารอะไรที่เข้าไปทำให้น้องหมาเกิดภาวะไตวาย
แต่มีข้อมูลว่าหากเป็นสุนัขที่อยู่ในภาวะป่วยหรือสุนัขอายุมาก
ระดับความรุนแรง (ไตวาย) จะสูงกว่าสุนัขวัยรุ่น และจะเป็นในลักษณะที่ไม่สามารถแก้ไขได้
นอกจากนี้ยังพบข้อมูลเกี่ยวโยงไปถึงสายพันธุ์อีกด้วย
แต่ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะสรุปออกมาได้ชัดเจน คงต้องใช้ระยะเวลาศึกษากันต่อไป
ตอนนี้แมวดื้อก็คงได้แต่ฝากเตือนเพื่อนๆ ว่าถึงแม้มันจะมีข้อมูลที่ไม่ค่อยจะดีอันน้อยนิด แต่ก็เป็นกรณีศึกษาที่พึงระวัง
ดังนั้นหากหลีกเลี่ยงได้ ก็เลี่ยงเอาไว้ก่อนดีกว่านะ ผลไม้อย่างอื่นมีเยอะแยะ
Macademia nuts
ถั่วแมคคาเดเมีย แม้จะไม่ได้ทำให้น้องหมาเสียชีวิต
แต่ก็พบรายงานถึงอาการอาเจียน, ปวดกล้ามและข้อ, อวัยวะต่างๆ บวมอักเสบ
อันนี้พบอันตรายกับน้องหมาเพียงอย่างเดียวนะ ยังไม่มีรายงานในน้องแมว
รายงานพบในสุนัขพันธุ์เล็ก ให้ทานถั่วแมคคาเดเมียไปแล้ว วันรุ่งขึ้นเดินไม่ได้ ไม่มีแรง อ่อนเพลีย คล้ายเป็นอัมพาต
ปริมาณที่ได้รับเข้าไป จนทำให้เกิดเป็นอันตรายยังไม่ได้รับการศึกษาอย่างแน่ชัด
การรักษาไม่ยากนัก แต่ผู้เลี้ยงควรให้ประวัติเรื่องอาหารโดยละเอียดแก่คุณหมอที่ดูแล
เพราะอาการไม่ชี้เฉพาะเจาะจง จำเป็นต้องอาศัยประวัติร่วมในการวินิจฉัย
Onions
หัวหอม อันนี้ผู้เลี้ยงน้องหมาน้องแมวคงทราบกันดีอยู่แล้ว
อันตรายของหัวหอมนั้นอยู่ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะยังสดเป็นหัวๆ อยู่ หรือแปรรูป หั่นเป็นชิ้นๆ ไปแล้ว
หรือนำไปผ่านกรรมวิธีการทำอาหาร ก็ยังคงมีอันตรายอยู่
หัวหอมอาจเข้าไประคายเคืองระบบทางเดินอาหาร ทำให้น้องหมาน้องแมวอาเจียนหรือท้องเสีย (อาการพื้นฐาน)
ในน้องแมวนั้นอาการจะรุนแรง เนื่องจากจะเข้าไปทำอันตรายเม็ดเลือดแดง
ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดจางและอาจทำให้เสียชีวิตในเวลาต่อมา
Garlic
กระเทียมก็เช่นเดียวกันกับหัวหอม แต่อาการพื้นฐานที่พบในน้องแมวนั้นจะรุนแรงกว่า
นอกจากจะทำให้น้องแมวอาเจียนและท้องเสียแล้ว บางกรณีทำให้ระบบทางเดินอาหารหยุดบีบตัว
พออาหารคงค้างอยู่ในทางเดินอาหาร ก็จะเกิดก๊าซตามมา
สำหรับอันตรายต่อเม็ดเลือดแดงนั้น เช่นเดียวกันกับหัวหอม ส่งผลให้เลือดจาง
Caffeine
อันตรายของคาเฟอีนในน้องแมวนั้นจะสูงกว่าในน้องหมา
อาการที่พบอาจได้ตั้งแต่กระวนกระวาย หัวใจเร็ว หรือชักกระตุก
การได้รับในปริมาณสูงอาจทำให้เสียชีวิตในระยะเวลาอันรวดเร็ว
ตรงนี้แมวดื้อเน้นที่ “คาเฟอีน” นะ คือไม่ได้เฉพาะแค่กาแฟเพียงอย่างเดียว
ชาหรือเครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีคาเฟอีนก็รวมอยู่ในอันนี้ด้วย
ปริมาณคาเฟอีนในแต่ละอย่างก็มีมากบ้างน้อยบ้าง
ผู้เลี้ยงหลายท่านอาจมี “ประสบการณ์” แล้วบอกว่า “ไม่เห็นเป็นไรเลย” อยู่บ้าง ตรงนี้แมวดื้อเคยเขียนเอาไว้แล้ว
และแมวดื้อก็ยังคงยืนยันว่า “ป้องกัน” ดีกว่า “รักษา” แน่นอน
Fat trimmings and bones
อันนี้อาจไม่ได้เป็นอันตรายที่พบโดยตรง เป็นเรื่องความเชื่อ การเล่า การทำตามต่อๆ กันมา
ซึ่งแมวดื้อไม่ได้ว่ามันเป็นสิ่งผิด แต่ก็บอกได้ว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องนัก
ในต่างประเทศผู้เลี้ยงน้องแมวหลายคนนิยมที่จะให้ไก่ (พร้อมหนังกระดูก) ไปแบบในรูปเลย
หากเป็นคนไทย ผู้เลี้ยงหลายคนนิยมที่จะให้ปลาทูไปเป็นตัวๆ
คืออาจไม่ได้ให้ไปทั้งตัวจริง ก็เลาะเอาก้างใหญ่ๆ ตรงกลางออก
หากมีเวลาก็เลาะออกให้หมด บางคนก็ให้ไปทั้งหมด (พร้อมก้าง) แบบนั้น
สิ่งแรกที่ควรทำความเข้าใจก่อนก็คือน้องแมวเป็น “สัตว์กินเนื้อ” (carnivores)
ในขณะที่น้องหมาเป็น “สัตว์กินทั้งเนื้อและพืช” (omnivores)
สำหรับน้องหมาแล้วการที่กินทั้งเนื้อและพืช ก็จะคล้ายคลึงกับคนเรา
ดังนั้นในส่วนของประเภทอาหารจึงไม่แตกต่างกันมากนัก
(แม้ว่าจะมีรายละเอียดปลีกย่อยเรื่องปริมาณสารต่างๆ ในอาหารต่างกันก็ตาม)
สำหรับในน้องแมวที่เป็นสัตว์กินเนื้อ อันนี้คือกินเนื้อจริงๆ นะ จะเนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหนู
อะไรก็ตาม เน้นที่เนื้อๆ เพราะแมวต้องการโปรตีนเป็นหลัก
การให้อาหารน้องแมวด้วย “ข้าวคลุกปลาทู” นั่นก็คือ “ผิดธรรมชาติ”
เพราะน้องแมวไม่ต้องการคาร์โบไฮเดรตจากข้าวมากนัก แต่ต้องการโปรตีนจากเนื้อสัตว์เป็นหลัก
ครั้นพอให้คาร์โบไฮเดรตเยอะๆ แมวก็อ้วน ซึ่งความอ้วนในแมวนั้นทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
การให้อาหารน้องแมวด้วยไก่ติดหนัง อันนี้ก็ไม่ถูกต้องนัก
เพราะไขมันที่มากเกินไปทำให้ระบบการย่อยอาหารในน้องแมวผิดปกติไป อาหารย่อยช้าลง
ซ้ำร้ายตัวกระดูกยังอาจเข้าไปทำอันตรายต่อผนังทางเดินอาหารอีกด้วย
แต่อย่างที่แมวดื้อกล่าวไว้ การทำต่อๆ กันมา อันนี้เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ยาก
และแมวดื้อไม่ได้ต้องการไปเปลี่ยนความคิดของผู้เลี้ยง
เพียงแค่อยากนำเสนอข้อมูล อธิบายให้ฟัง ที่เหลือก็อยู่ที่ตัวผู้เลี้ยงเองว่าจะเข้าใจ ยอมรับ และปรับเปลี่ยนความคิดหรือไม่
Credit Photos & Article : www.pawnation.com
เอนทรีนี้แอบยาว รู้จักอาหารอันตรายสำหรับน้องหมาน้องแมวกันไปแล้ว
ตอนหน้ามาดูว่าแล้วอาหารอะไรดีสำหรับน้องหมาน้องแมวบ้าง