โซดาไฟ

ตั้งแต่ทำงานเป็นคุณหมอมา

ก็เพิ่งวันนี้แหละ

ที่เจอลูกสุนัขโดนโซดาไฟ

..ไหม้..

เจ้าของบอกว่า

“เอาโซดาไฟมาใส่ท่อ (เพื่อทำความสะอาด)”

แล้วเจ้าตัวเล็ก เข้าไปมุดท่อ (ที่อาจจะรั่ว)

สุดท้ายก็เลยเป็นแบบที่เห็น

 

 

ผิวหนังไหม้

ถ้าโดนตาหรือบริเวณหน้าก็คงแย่

 

 

จริงๆ แล้วโซดาไฟ มีทั้งประโยชน์และโทษ

เจอข้อมูลอันนี้ น่าจะมีประโยชน์

 

 

โซดาไฟ หรือ คอสติกโซดา (Caustic soda) หรือโซเดียมไฮดรอกไซด์ (sodium hydroxide) สูตรทางเคมีคือ NaOH ชาวบ้านรู้จักกันในชื่อสารเคมีผงมัน หรือโซดาแผดเผา

คุณลักษณะเป็นของแข็งสีขาว ไม่มีกลิ่น โดยทั่วไปแล้วอยู่ในรูปของสารละลาย ดูดความชื้นดีมาก เป็นด่างแก่ละลายน้ำได้ดี ผลิตจากกระบวนการแยกสารทางไฟฟ้า (Electrolysis) ของน้ำเกลือ ในทางอุตสาหกรรมใช้ทำให้กรดกลายเป็นกลาง

ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันมักมีโซดาไฟผสมอยู่หรือไม่ก็เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิต เช่น ผลิตเยื่อกระดาษ สบู่และผลิตภัณฑ์ซักฟอก เคมีภัณฑ์ทำความสะอาด โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมโลหะ อาหาร เส้นใยเรยอน สิ่งทอ ใช้ในการฟอกย้อม ล้างสีไหม นอกจากนี้ช่างเจียระไนพลอยก็ใช้ในขั้นตอนล้างเม็ดพลอยที่เจียระไนเสร็จแล้ว

โซดาไฟมีฤทธิ์เป็นด่างจึงกัดผิวหนังได้ ยิ่งเข้มข้นมากยิ่งมีฤทธิ์มาก อันตรายเฉียบพลัน ถ้าหายใจเข้าไปโดยการสูดดมฝุ่นควันของสารจะระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ อาจเกิดปอดอักเสบ น้ำท่วมปอดได้ หากเข้าตาจะมีฤทธิ์ทำลายตั้งแต่ระคายเคืองหรือรุนแรงกระทั่งทำให้ตาบอดได้ หากถูกผิวหนังจะทำให้เกิดการไหม้จนเป็นแผลลึก หากรับประทานเข้าไปจะเกิดการไหม้ในปาก ลำคอ และทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หมดสติ ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้ที่เคยได้รับสารเข้าไปทางปาก อาจมีการพัฒนากลายเป็นมะเร็งในภายหลัง 12-42 ปี หลังจากกินเข้าไป

การปฐมพยาบาล ถ้าหายใจเข้าไปให้รีบย้ายผู้ป่วยออกมาให้ได้รับอากาศบริสุทธิ์แล้วนำส่งแพทย์ หากเข้าตารีบล้างตาด้วยน้ำอุ่นโดยค่อยๆให้น้ำไหลผ่านตา 30 นาที เปิดเปลือกตาไว้ อย่าให้น้ำล้างตาไหลเข้าตาข้างที่ไม่เป็นอะไร เมื่อถูกผิวหนังให้รีบล้างออกโดยให้น้ำไหลผ่านบริเวณที่ถูกสารอย่างน้อย 30 นาที พร้อมกับถอดชุดอุปกรณ์ต่างๆที่เปื้อนสารออกแล้วรีบนำส่งแพทย์

แม้ว่าโซดาไฟเป็นสารไม่ติดไฟ แต่ถ้าสัมผัสกับสารบางชนิด เช่นกรดเข้มข้น หรือทำปฏิกิริยาอย่างรุนแรงกับน้ำ จะทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีกันจนเกิดความร้อนพอเพียงและทำให้สารที่วางอยู่ใกล้ลุกติดไฟได้ การดับเพลิงจึงต้องดูสารที่เป็นคู่ปฏิกิริยาและใช้เครื่องดับเพลิงให้ถูกต้อง

การเก็บและใช้ควรอยู่ในภาชนะที่กันน้ำปิดสนิทมิดชิดในที่เย็น หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง ควรจัดให้มีอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากาก แว่นนิรภัย ถุงมือ ชุดคลุมทั้งตัว รองเท้าบู๊ต และจัดให้มีฝักบัวล้างตาหรือล้างตัวอยู่ใกล้เคียงบริเวณที่ทำงาน

ที่มาข้อมูล: www.matichon.co.th

 

แมวดื้อ
Different case