Cataracts

Saturday petdoC
สัปดาห์นี้แมวดื้อเจอเคสสุนัขที่เป็น “ต้อกระจก” (Cataracts) อยู่หลายเคส
กลับมาค้นข้อมูลว่ามีการอัพเดตไปถึงไหนกันแล้ว
ตอนที่แมวดื้อเรียน มักจะท่องลักษณะอาการที่พบเห็นว่า
Star in the Sky
ลักษณะที่ว่าเห็นคล้ายเช่นนี้

ช่วงที่เรียนแมวดื้อก็งงๆ กับภาษาไทยอยู่พอสมควร
เพราะว่า Cataracts นั้นแปลเป็นไทยว่า ต้อกระจก
แต่ความผิดปกตินั้นไปอยู่ที่ “เลนส์ตา” (lens) ไม่ใช่ “กระจกตา” (cornea)
หากน้องหมาน้องแมวเล่นตบตีกัน
แล้วเกิดเป็นแผลที่กระจกตา
สิ่งที่อาจเห็นได้ก็คือกระจกตาเป็นฝ้าสีฟ้าๆ
อันนี้จะอยู่ที่กระจกตา ซึ่งจะอยู่ด้านนอกของลูกตา
แต่หากเป็น Cataracts จะเป็นที่เลนส์ตา ซึ่งอยู่ทางด้านใน
ซึ่งสามารถแยกจากกันด้วยการส่องไฟ
เข้าไปทางด้านข้างของลูกตา
แล้วตรวจดูว่าเป็นที่ส่วนใดกันแน่

เลนส์ตานั้นทำหน้าที่ในการปรับความชัด
เช่นเดียวกับการโฟกัสของกล้องถ่ายรูป
หากปรับโฟกัสไม่ถูกต้อง ภาพที่ได้ก็จะเบลอ ไม่ชัด

ความสามารถในการโฟกัสของสุนัขเมื่อเทียบกับคน
พบว่าในสุนัขนั้นจะปรับโฟกัสได้น้อยกว่าคนถึง 3 เท่า
ในขณะที่แมวนั้นจะสามารถปรับโฟกัสได้น้อยกว่าคน 2 เท่า
อันนี้เป็นความสามารถในการปรับโฟกัสนะ
ไม่เกี่ยวกับความไวในการรับแสง (แบบการปรับค่า ISO ของกล้อง)
ที่ทั้งสุนัขและแมวทำได้ดีกว่าคน สามารถมองเห็นในที่แสงน้อยได้ดี

เมื่อรู้กันแล้วว่า “ต้อกระจก” เป็นความผิดปกติที่ “เลนส์ตา”
ซึ่งปกติควรจะใส (แบบเดียวกับเลนส์กล้องถ่ายรูป)
แต่เมื่อมันขุ่น ก็จะโฟกัสไม่ได้ ส่งผลให้มองไม่ชัดเจน
และถ้ามันขุ่นมากขึ้น มากขึ้น
แสงผ่านเข้าไปไม่ได้ ก็จะมองไม่เห็น (ตาบอด)

ปัจจัยต่างๆ ที่ “น่าจะ” มีผลต่อต้อกระจกในสัตว์
ได้แก่ อุบัติเหตุ การกระแทก, อายุ, พันธุ์, ความผิดปกติของระบบเมตาโบลิซึม, โรคเบาหวาน,
ความผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด เช่นมีการติดเชื้อไวรัสตั้งแต่ในท้องแม่
ในแมวนั้นพบได้น้อยกว่าในสุนัข
หากพบ อาจพบได้ในทุกช่วงอายุ และมักจะไม่เกี่ยวข้องทางกรรมพันธุ์
และมีรายงานว่ามีปัจจัยเกี่ยวกับเรื่องสารอาหารที่ผิดปกติในขณะที่ยังเล็ก
ปัจจัยที่มักจะพบต้อกระจกในแมวก็คือตาอักเสบอย่างเรื้อรัง
ในขณะที่ในสุนัขนั้น ปัจจัยที่มักจะพบต้อกระจก กลับเป็นโรคเบาหวาน หรือกรรมพันธุ์

การรักษานั้นไม่มีวิธีการรักษาทางยาที่ทำให้ “หาย”
มีเพียงการชะลอให้เป็นช้าลงได้บ้างเท่านั้น
มีรายงานว่าการใช้ยาหยอดตาที่มีตัวยา atropine หยอดตา
สัปดาห์ละ 2-3 ครั้งจะช่วยในการมองเห็น หากต้อยังไม่สุกเต็มที่
แต่การใช้ยาดังกล่าว ควรอยู่ในการควบคุมของสัตวแพทย์
อาจต้องมีการตรวจตาเป็นระยะ

การเพิ่มสารอาหารบางประเภท
จำพวกวิตามิน E และ วิตามิน C ก็มีรายงานว่าช่วยชะลอการเกิดได้บ้าง
ตรงนี้ สำหรับวิตามิน C เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ ดังนั้นจึงไม่ค่อยน่าเป็นห่วงสักเท่าใดนัก
แต่สำหรับวิตามิน E ที่เป็นวิตามินละลายในไขมัน การใช้จึงควรอยู่ในการควบคุมของสัตวแพทย์
ให้มากเกินไป อาจก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี

วิธีการผ่าตัดอาจเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เจ้าของสัตว์สามารถพิจารณา
(แต่อาจมีค่าใช้จ่ายที่สูง)
การผ่าตัดเอาเลนส์ตาออกเลย เป็นวิธีการที่สามารถทำได้
แม้จะเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการปรับโฟกัส
หากไม่มีแล้ว สัตว์เลี้ยงก็สามารถกลับมามองเห็นได้ แม้จะมองไม่ชัด
(แสงเข้าไปถึงตัวรับแสงภายในลูกตาได้ แต่ไม่มีตัวโฟกัส)
การผ่าตัดแบบที่เปลี่ยนเลนส์เทียม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
แต่อาจต้องดูแลภายหลังการผ่าตัดอยู่พอสมควร
ประกอบกับการตรวจ ที่จะบอกได้ว่าสัตว์เลี้ยงมองเห็น “ชัด” หรือ “ไม่ชัด” เป็นเรื่องยาก
จึงประเมินความสำเร็จได้ลำบากอยู่สักนิด
วิธีต่อมาคือการลอกต้อโดยใช้คลื่นเสียง
เป็นอีกวิธีที่ต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือ รวมถึงสัตวแพทย์เฉพาะทาง
จากรายงานประสบความสำเร็จถึง 85-90%
หากใครสนใจลองหาใน youtube ด้วยคำว่า Phacoemulsification
มี video ให้ดูด้วย
แต่วิธีการนี้ ความสำเร็จอยู่ที่ประวัติสัตว์เลี้ยงเอง, การตรวจวินิจฉัยของสัตวแพทย์,
ความผิดปกติในส่วนอื่นๆ ของลูกตา, รวมถึงระยะเวลาในการผ่าตัด
เนื่องจากผ่าเร็วไป ช้าไป ก็อาจมีผลต่ออวัยวะโครงสร้างลูกตาในส่วนอื่นๆ
(ส่วนมาก มักจะพิจารณาเมื่อ “ต้อสุก” แล้ว)

การพยากรณ์โรคต้อกระจก
เนื่องจากต้อกระจกไม่ได้ทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดความเจ็บปวด
มีเพียงการสูญเสียในการมองเห็นเท่านั้น
ซึ่งอย่าลืมว่าทั้งสุนัขและแมวนั้น
มีความสามารถในการได้ยินและรับกลิ่นสูงมาก
การมองไม่เห็น “อาจ” ไม่ได้ไปรบกวน “การใช้ชีวิต” มากนัก
เมื่อสัตว์เลี้ยงมองไม่เห็นแล้วจริงๆ ผู้เลี้ยงก็จะต้องเข้าใจ
รู้วิธีปรับตัว
ข้าวของเครื่องใช้ ภายในบ้าน ก็อย่าปรับเปลี่ยนที่บ่อย
สัตว์เลี้ยงจะจำตำแหน่งของที่ต่างๆ ได้ และจะเดินไม่ชน
(อาจแค่เดินช้าๆ ในช่วงแรก)
การผ่าตัดนั้นก็สามารถทำได้ แต่ก็ต้องดูปัจจัยอื่นร่วมด้วย
เช่นสัตว์เลี้ยงอยู่ในสภาพที่พร้อมจะวางยาสลบไหม
สุขภาพแข็งแรงหรือเปล่า
ผู้เลี้ยงสามารถดูแลภายหลังการผ่าตัดได้หรือไม่
อวัยวะภายในลูกตาอื่นๆ ยังคงทำงานได้ดีหรือไม่
เช่นสุนัขเป็นต้อกระจกร่วมกับประสาทตาเสื่อม
แม้จะทำให้แสงผ่านเลนส์ตาเข้าไปได้
ตัวประสาทตาไม่สามารถทำงานได้
สุนัขก็จะมองไม่เห็นเช่นเดิม
กรณีแบบนี้ การผ่าตัดก็อาจไม่ได้ช่วยอะไร

อย่างไรก็ดี
แมวดื้อแนะนำว่า หากสังเกตเห็นลูกตาสัตว์เลี้ยง
ขุ่น ฟ้า มัว
ก็ให้รีบพาไปให้สัตวแพทย์ทำการตรวจตั้งแต่เนิ่นๆ