โรคช่องท้องอักเสบติดต่อในแมว

Saturday petdoC
สัปดาห์นี้มาคุยกันถึงเรื่องโรคช่องท้องอักเสบกัน
หรือมีตัวย่อในภาษาอังกฤษว่า FIP

โรคช่องท้องอักเสบติดต่อในแมวเกิดจากเชื้อไวรัส
(เอาเป็นว่ารู้แค่นี้พอ จะเชื้อชื่ออะไร อยู่ในกลุ่มไหนเราคงไม่ต้องสนใจก็แล้วกัน)
โรคนี้ถือว่าเป็นโรคร้ายแรง พบได้ทั่วโลก นอกจากจะเป็นในแมวแล้ว ยังพบว่าอาจเป็นในเสือหรือสิงโตได้อีกด้วย
โดยธรรมชาติของเชื้อไวรัสตัวนี้จะมีอยู่สองแบบ คือแบบแรกเชื้อไวรัสก่อให้เกิดอาการท้องเสียเฉยๆ มักจะไม่มีอาการรุนแรง
และแบบที่สองเชื้อไวรัสทำให้เกิดการสะสมของเหลวในช่องท้อง ที่มักจะมีภาวะอื่นๆ ตามมา (และมักจะทำให้เสียชีวิต)
เชื่อกันว่าเชื้อไวรัสแบบไม่รุนแรงกลายพันธุ์จนกลายเป็นเชื้อไวรัสแบบรุนแรงในร่างกายแมวเอง
(ไม่ได้ติดเชื้อไวรัสที่มีความรุนแรงตั้งแต่แรก)

เชื้อไวรัสช่องท้องอักเสบติดต่อสามารถพบได้ในน้ำลายและอุจจาระของแมวป่วย
ดังนั้นการเลียตัวให้กัน การกัดกันหรือการใช้กระบะทรายร่วมกันมีโอกาสที่จะติดเชื้อไวรัสตัวนี้ได้
เชื้อไวรัสตัวนี้สามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน 3-7 สัปดาห์
อย่างไรก็ตามน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่เราใช้ทำความสะอาดทั่วไปมักจะฆ่าเชื้อไวรัสตัวนี้ในสิ่งแวดล้อมได้

เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัส ดังนั้นความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายแมวเองด้วย
ถ้าร่างกายแข็งแรงมาก ก็จะสามารถกำจัดเชื้อไวรัสตัวนี้ออกไปได้
ถ้าร่างกายแข็งแรงในระดับหนึ่งแต่ไม่สูงมาก เชื้อไวรัสก็อาจอยู่ในสภาวะแฝง
เมื่อใดก็ตามที่แมวมีความเครียดหรือภูมิคุ้มกันลดลงก็จะแสดงอาการออกมา
หรือถ้าร่างกายอ่อนแอก็จะแสดงความรุนแรงของโรคในระดับที่แตกต่างกันออกไป
อาจมีเพียงก้อนเนื้อตามเนื้อเยื่อต่างๆ หรือรุนแรงจนกระทั่งมีการสะสมของเหลวในช่องท้อง

ในกรณีที่แม่แมวมีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ ลูกแมวที่เกิดขึ้นมาจะมีภูมิคุ้มกันด้วยเช่นเดียวกัน
จนถึงอายุประมาณ 4-6 สัปดาห์ ระดับภูมิคุ้มกันจากแม่ไปสู่ลูกจะค่อยๆ ลดลง
อันจะเป็นจุดที่ลูกแมวจะสามารถรับเชื้อไวรัสตัวนี้ได้
หากลูกแมวได้รับเชื้อในช่วงอายุนี้ ก็จะเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุได้ประมาณ 12 สัปดาห์ (ถัดไปอีก 2 เดือน)
แต่ในทางปฎิบัติลูกแมวช่วงอายุ 1-3 เดือน ผู้เลี้ยงก็คงจะไม่ปล่อยให้ไปรวมกับแมวโต
หรือปล่อยให้ไปรับเชื้อไวรัสมาง่ายๆ น่าจะดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว
ดังนั้นในทางคลินิกผู้เลี้ยงมักจะนิยมขายแมวที่อายุประมาณ 2-3 เดือน
หากลูกแมวได้รับเชื้อเข้าไปในช่วงนี้ ก็มักจะแสดงอาการที่อายุประมาณ 5-6 เดือน

อาการที่พบขึ้นอยู่กับระดับภูมิคุ้มกันดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
มีได้ตั้งแต่ น้ำหนักลดลงอย่างต่อเนื่อง มีไข้ เบื่ออาหาร อาการทางประสาท
ภาวะโลหิตจาง ความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร (ท้องผูกหรือท้องเสีย)
มีการขยายใหญ่ของช่องท้อง (มองคล้ายน้ำเต้า – ตามรูป)
หากทิ้งไว้นานๆ ก็จะเริ่มมีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากของเหลวในช่องท้องไปดันกระบังลมทำให้หายไม่ได้
ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อแมวแสดงอาการช่องท้องขยายใหญ่และตรวจพบของเหลวคั่งในช่องท้อง
มักจะเสียชีวิตภายใน 2 เดือนหลังจากที่ตรวจพบ
สำหรับการขยายใหญ่ของช่องท้องที่พบนั้น ส่วนใหญ่พบว่าแมวไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด

การตรวจวินิจฉัยนั้นอาจจำเป็นต้องใช้หลายวิธีในการตรวจ เพื่อเพิ่มความแม่นยำ
ทั้งการตรวจเลือด การเจาะเอาของเหลวในช่องท้องไปตรวจ หรือการตรวจชิ้นเนื้อ
ส่วนการรักษานั้นสามารถทำได้เพียงรักษาตามอาการและพยุงคุณภาพชีวิตไปถึงวาระสุดท้าย
การป้องกันที่ได้ผลก็คือการแยกฝูงของแมวให้อยู่รวมกันเพียงแค่ 4-5 ตัวต่อฝูง
และควรแยกลูกแมวกับแมวโตออกจากกัน และทำวัคซีนป้องกันโรคนี้เมื่อแมวมีอายุได้ประมาณ 16 สัปดาห์

คราวนี้มาดูการศึกษากันเพิ่มเติม เริ่มจากเรื่องของพันธุ์ก่อน
พันธุ์ที่จากข้อมูลพบว่าป่วยเป็นโรคช่องท้องอักเสบติดต่อมากได้แก่
Abyssinian, Bengal, Birman, Himalayan, Ragdoll และ Rex cats (Cornish and Devon included)
ในกลุ่มนี้ที่เราคุ้นเคยกันก็คือ Himalayan

พันธุ์ที่จากข้อมูลพบว่าป่วยเป็นโรคช่องท้องอักเสบติดต่อบ้าง (อย่างไม่มีนัยสำคัญ) ได้แก่
Burmese, Exotic Shorthair, Manx, Persian, Russian Blue และ Siamese
ซึ่งสังเกตได้ว่าแมวที่เราเลี้ยงกันส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มนี้ ทั้ง exotic shorthair, persion หรือ siamese แมวไทยของเรานี่เอง

ส่วนพันธุ์ที่จากข้อมูล “ไม่พบ” ว่าป่วยเป็นโรคช่องท้องอักเสบติดต่อได้แก่
Angora, Balinese, Belgian, Bombay, British SH, Chartreux, Colorpoint Shorthair, Egyptian Mau
Japanese Bobtail, Korat, Maine Coon, Maltese, Norwegian Forest Cat, Ocicat, RagaMuffin
Scottish Fold, Siberian, Snowshoe, Somali, Sphynx, Tonkinese และ Turkish Van
แมวในกลุ่มนี้ที่นิยมเลี้ยงกันในบ้านเราก็มี Bombay, British SH, Japanese Bobtail, Korat, Maine Coon และ Scottish Fold
ซึ่งน่าแปลกใจที่ siamese ของบ้านเราพบข้อมูลว่าป่วยเป็นโรคนี้ แต่แมวพันธุ์โคราช (Korat) กลับไม่พบข้อมูลป่วย

สำหรับเรื่องสายพันธุ์นี้มีความน่าสนใจต่อก็คือพันธุ์แท้ดั้งเดิมเลยมีโอกาสพบว่าป่วยเป็นโรคนี้ได้พอๆ กับพันธุ์ผสม
เนื่องจากสายพันธุ์แท้มักให้ลูกที่ดกกว่าพันธุ์ผสม พอมีลูกมาก ใช้กระบะทรายร่วมกันก็มีโอกาสติดเชื้อได้
ในขณะที่พันธุ์ผสมได้ลูกน้อยก็จริงแต่มักจะมีเรื่องความเครียดเกิดขึ้น (จากสายพันธุ์)
พอเครียด ร่างกายอ่อนแอก็มีโอกาสติดเชื้อได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตามข้อมูลตรงนี้ก็ต้องคิดเอาไว้ด้วยว่า ผู้เลี้ยงพันธุ์แท้มักมีกำลังทรัพย์ในการตรวจวินิจฉัย
ในขณะที่ผู้เลี้ยงพันธุ์ผสม เลี้ยงปล่อยตามบ้าน ไม่ค่อยให้ความสนใจหรือไม่มีกำลังทรัพย์ตรงนี้สักเท่าไหร่
ดังนั้นจำนวนประชากรที่นำมาสำรวจจึงอาจไม่ตรงความเป็นจริงก็ได้