Saturday petdoC
สัปดาห์นี้เรามาคุยกันถึงโรคลิวคีเมียในแมวกันบ้าง
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ในประเทศไทยมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้พอสมควร
ข้อมูลบางอย่างก็มีการเปลี่ยนแปลงไปจากตำราเมื่อสมัยก่อน
ถือเป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในประเทศไทย
โรคลิวคีเมียเกิดจากเชื้อไวรัส
พบได้ทั่วโลก แต่หลายคนอาจนึกถึงโรคลิวคีเมียในซีรีส์เกาหลีกัน
โรคลิวคีเมียเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน
โรคลิวคีเมียในแมว ติดต่อได้อย่างไร?
การติดต่อนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากแมวสู่แมว ไม่ว่าจะเป็นทางบาดแผล (จากการกัดกัน), การอยู่ร่วมกันแบบใกล้ชิด (ยกตัวอย่างเช่นการตัดขน, การใช้ภาชนะรองอาหารร่วมกัน หรือการใช้ทรายอนามัยร่วมกัน) หรือจากแม่มาสู่ลูก (ทั้งทางรกและน้ำนม) จำง่ายๆ ว่า เชื้อไวรัสลิวคีเมียอยู่ใน น้ำลาย, ปัสสาวะ และอุจจาระของแมวป่วย
แมวที่ป่วยเป็นโรคลิวคีเมีย มีอาการอย่างไร?
ในระยะแรก แมวอาจมีอาการเพียงแค่มีไข้ เซื่องซึม ท้องเสีย หรืออาจพบต่อมน้ำเหลืองขยายตัวขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น หลังจากนั้นอาจมีอาการอื่นๆ ได้โดยขึ้นอยู่กับระดับภูมิคุ้มกันในระบบต่างๆ อาทิเช่น น้ำหนักตัวลด ช่องปากอักเสบ ภาวะเลือดจาง อาการทางระบบประสาท เนื้องอกที่อวัยวะต่างๆ เป็นต้น
แมวที่เสี่ยงต่อโรคลิวคีเมีย?
แมวตัวผู้ ที่ยังไม่ได้ทำหมัน มีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อไวรัสลิวคีเมียค่อนข้างสูง เนื่องจากธรรมชาติของแมวตัวผู้ ที่ชอบออกไปนอกบ้าน ไปต่อสู้กับแมวตัวผู้อื่นๆ เพื่อแย่งแมวตัวเมียกัน หากเป็นแมวเร่ร่อนยิ่งจะมีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อไวรัสลิวคีเมียสูงกว่าแมวที่เลี้ยงไว้ตามบ้าน อย่างไรก็ตามสำหรับแมวที่เลี้ยงในบ้านอย่างหนาแน่น ก็มีอัตราเสี่ยงสูงไม่แพ้กัน หากมีแมวที่สามารถออกนอกบ้านไปได้ อาจนำเชื้อไวรัสลิวคีเมียกลับมา พอในบ้านมีประชากรหนาแน่น ก็มีอาจมีเรื่องความขัดแย้ง การแย่งกันเป็นใหญ่ รวมถึงความเครียดที่สูงขึ้น อันจะส่งผลให้มีการแพร่ระบาดได้
ระยะฟักตัวของโรคลิวคีเมีย?
ระยะฟักตัวของโรค หมายถึงระยะเวลาตั้งแต่แมวได้รับเชื้อไวรัสลิวคีเมียเข้าไปในร่างกาย จนแสดงอาการเจ็บป่วย สำหรับโรคลิวคีเมีย อาจมีระยะฟักตัวได้ตั้งแต่เดือนจนถึงปี ขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย แม้ว่าตัวเชื้อไวรัสลิวคีเมียจะส่งผลกระทบต่อระบบเลือด ระบบน้ำเหลือง และระบบภูมิคุ้มกัน แต่ว่าระบบอื่นๆ ภายในร่างกายนั้นจะไวต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนอื่นๆ อันเป็นผลมาจากภาวะกดภูมิคุ้มกัน
การตรวจวินิจฉัยโรคลิวคีเมีย
การตรวจวินิจฉัยนั้นมีอยู่หลายวิธี การตรวจวินิจฉัยในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะเพิ่มความแม่นยำ แต่อย่างไรก็ดี “ผลบวกลวง” ก็อาจเกิดขึ้นในอัตราที่ค่อนข้างสูง หากตรวจวินิจฉัยครั้งแรก พบผลบวก ก็มีโอกาสที่ตรวจอีกครั้งจะได้ผลลบ โดยทั่วไปแนะนำให้ตรวจวินิจฉัยซ้ำห่างกัน 8-12 สัปดาห์
หากตรวจวินิจฉัยพบว่าแมวที่เลี้ยงไว้เป็นโรคลิวคีเมีย ควรปฏิบัติอย่างไร?
แมวที่วินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคลิวคีเมีย อาจสามารถมีชีวิตยืนยาวได้นับปี มีข้อมูลการศึกษาว่า 83% ของประชากรแมวที่ทำการศึกษา มีอายุยืนยาวได้ไม่เกิน 4 ปี ภายหลังจากที่ตรวจวินิจฉัยว่ามีเชื้อไวรัสลิวคีเมีย โดยมีสองปัจจัยที่ควรเข้าใจ นั่นคือควรจะหลีกเลี่ยงความเครียดและการสัมผัสต่อเชื้อโรคอื่นๆ ดังนั้นจึงไม่ควรให้อยู่รวมกับแมวป่วย หรืออยู่กันอย่างหนาแน่น อย่างไรก็ดี มีข้อมูลว่าหากเลี้ยงแมวที่ป่วยเป็นโรคลิวคีเมียไว้ร่วมกัน จะมีความเครียดน้อยกว่า กักขังให้อยู่เพียงลำพัง
หากพบอาการป่วยเนื่องจากการติดเชื้อแทรกซ้อน ก็ให้รีบทำการรักษา อาจให้ยาปฏิชีวนะ ให้สารน้ำ หรืออาหารที่มีคุณค่าสูง หากพบก้อนเนื้องอก อาจให้การรักษาคีโมร่วมกับให้ยาในกลุ่มสเตรียรอยด์ ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์
ยาสำหรับคนที่นำมาใช้กรณีติดเชื้อ HIV มีรายงานว่าประสบความสำเร็จในการใช้ในแมวบ้าง แต่ก็มีผลข้างเคียงพอสมควร รวมถึงยาที่มีสรรพคุณช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา (ในคน) ก็มีการนำมาทดลองใช้กับแมวที่ป่วยเป็นโรคลิวคีเมีย
การป้องกันโรคลิวคีเมียในแมว
เนื่องจากไม่มีวิธีรักษา การป้องกันจึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แม้ว่าไม่มีวัคซีนตัวใด ที่สามารถให้ผลสร้างภูมิคุ้มกันในระดับ 100% แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคลิวคีเมียเลย โดยเฉลี่ยได้ผลประมาณ 75% – 85% นอกจากนี้การแยกแมวที่ป่วยเป็นโรคลิวคีเมียออกจากฝูง และไม่ให้ออกไปสู่ภายนอก เป็นการควบคุมการระบาดของโรคลิวคีเมียได้เป็นอย่างดี สำหรับการผ่าตัดทำหมันก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่จะลดพฤติกรรมการออกไปนอกบ้านของแมวตัวผู้ อันจะเพิ่มโอกาสความเสี่ยงในการสัมผัสเชื้อไวรัสลิวคีเมียได้อีกทางหนึ่งด้วย
[…] โรคลิวคีเมียในแมว เรื่องโดย คุณ Blue_wind […]