วันนี้เห็นร้านขายของใกล้ๆ ออฟฟิศอาบน้ำให้เจ้าตัวเล็ก
แล้วก็ปล่อยให้นั่งเล่นตากแดดอ่อนๆ ยามสายให้ตัวแห้ง
เลยหยิบมาเขียนถึงสักหน่อย
โดยปกติแล้ว ไม่ว่าจะเป็นน้องหมาหรือน้องแมว
อุณหภูมิในร่างกายจะสูงกว่าคนเราอยู่เล็กน้อย
นอกจากนี้การมีขนเยอะ (เมื่อเทียบกับคน) ไม่ว่าจะขนสั้นหรือขนยาว
ยังเป็นสิ่งที่ช่วยปกป้องผิวหนัง และเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย
ผู้เลี้ยงหลายๆ ท่าน คิดแทนสัตว์เลี้ยงของท่านเอง
โดยอ้างอิงจากลักษณะนิสัยส่วนบุคคล ที่กระทำเป็นประจำ
== ขน ==
หากไม่นับการตัดขนหรือการเลี้ยงขนให้ยาว ตามลักษณะของสายพันธุ์แล้ว
การดูแลรักษาขนของเจ้าตัวเล็กนั้น ควรจะอ้างอิงตามสภาพแวดล้อมเป็นหลัก
สำหรับพันธุ์ขนยาว แต่เลี้ยงในอากาศร้อนอย่างบ้านเรา ไม่ได้อยู่ในห้องแอร์
อาจพบกรณีขนร่วงมาก ซึ่งเป็นไปตามสรีระโดยปกติ
ยิ่งขนเยอะ ยิ่งร้อน วิธีที่ช่วยได้ก็คือการผลัดเอาขนออกบ้าง
ซึ่งจะสังเกตได้ว่าขนบนตัวนั้นไม่ได้บางลงแต่อย่างใด (ไม่ได้เป็นโรคผิวหนัง)
ในทางกลับกัน ในหน้าหนาว
ถึงแม้ว่าชาวไทยจะไม่รู้สึกถึงความหนาวยะเยือกมากนัก (จะมีภัยหนาวส่วนใหญ่เฉพาะในพื้นที่สูง)
แต่ต้องไม่ลืมว่าอุณหภูมิของเจ้าตัวเล็กสูงกว่าคนเราเล็กน้อย
ดังนั้นคนเราไม่หนาว แต่เจ้าตัวเล็กอาจหนาวนะ อย่าเอาความรู้สึกตัวเองเป็นเกณฑ์
== ผิวหนัง ==
สำหรับคนเรามีคนน้อย เมื่อเทียบกับเจ้าตัวเล็ก
เส้นขนทำหน้าที่ในการปกป้องผิวหนังอีกชั้นหนึ่ง
ดังนั้น หากเทียบผิวหนังคนเรากับผิวหนังเจ้าตัวเล็ก
ให้คิดไว้ว่า ผิวหนังเจ้าตัวเล็กนั้นบอบบางกว่าคนเราเสียอีก
ขนาดคนเรา ยังมีผิวแห้ง ผิวมัน ผิวแพ้ง่าย
จะเลือกสบู่ ครีมอาบน้ำ โฟมล้างหน้า แชมพู ครีมนวด ยังเลือกแล้วเลือกอีก
บางทีอย่างเราเลือกที่อ่อนที่สุดแล้ว ยังแพ้ ยังคัน
แล้วผิวหนังของเจ้าตัวเล็กบอบบางกว่าเราอีก
หลายครั้งการที่ผู้เลี้ยงเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของคนเรา ไปใช้กับเจ้าตัวเล็ก
ทำให้เกิดปัญหาตามมา
แม้จะมีข้อแย้งว่า “ใช้ได้..แล้วไม่มีปัญหา”
อันนั้นก็เป็นเรื่องของลักษณะผิวหนังของเจ้าตัวเล็กแต่ละตัว
ในเมื่อคนเรา ยังมีผิวหนังที่แตกต่างกันได้ เจ้าตัวเล็กก็มีผิวหนังแตกต่างกันได้เช่นเดียวกัน
== การอาบน้ำ ==
สำหรับเจ้าตัวเล็กที่เลี้ยงโดยทั่วไปในสมัยนี้
เรามักจะเลี้ยงกันในบ้านเล็กๆ คอนโด หรืออพาตเม้นท์
โอกาสที่จะไปวิ่งในสวน ขุดดิน นอนเกือกกลิ้งในทุ่งลดลงไปมาก
โดยทั่วไป การอาบน้ำให้เจ้าตัวเล็ก ควรทำสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
ผู้เลี้ยงหลายราย อาบน้ำให้เจ้าตัวเล็ก “ทุกวัน”
ซึ่งไม่ทันคิดว่าแชมพูต่างๆ จะล้างเอาไขมันบนชั้นผิวหนังออกไปด้วย
คิดง่ายๆ เหมือนคนเราล้างมือ แล้วมือเราหายมัน
เมื่อผิวหนังแห้งมากๆ (จากการล้างไขมันออกตลอดอย่างต่อเนื่อง)
ก็จะส่งผลทำให้เจ้าตัวเล็กคันตามมา
หากจะอาบทุกวันจริงๆ ก็แนะนำให้เป็นน้ำเปล่าบ้าง ลงแชมพูสัปดาห์ละ 1-2 วันแค่นั้นพอ
นอกจากนี้ยังอาจคิดไปถึงอุณหภูมิของน้ำด้วย
หลายคนอาบน้ำอุ่นตลอดเวลา ไม่ว่าอากาศจะร้อนแค่ไหน
การอาบน้ำเจ้าตัวเล็กก็ควรคิดถึงตรงนี้เหมือนกัน
การอาบน้ำเย็น หรืออาบน้ำเจ้าตัวเล็กโดยใช้ระยะเวลานาน อาจไม่ดีต่อระบบทางเดินหายใจของเจ้าตัวเล็ก
โดยทั่วไปแมวดื้อมักจะแนะนำให้ผู้เลี้ยงอาบน้ำเจ้าตัวเล็กในช่วง 09.00-15.00 น.
แม้ว่าจะเข้าใจเรื่องวิถีการดำรงชีวิตของคนเมือง
กว่าจะกลับถึงบ้านก็ดึกดื่น
ผู้เลี้ยงหลายท่านอาบน้ำเจ้าตัวเล็กตอนเที่ยงคืน
แม้ว่าจะอาบด้วยน้ำอุ่นก็ตาม แต่ในสภาพแวดล้อมตอนกลางคืน อุณหภูมิแวดล้อมค่อนข้างลดต่ำลง ไหนจะเรื่องความชื้นที่สูงขึ้น
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เกิดไข้ได้
บางกรณีก็ทำให้มีน้ำมูกหรือเป็นหวัดตามมา
อีกทั้งเรื่องการทำให้เจ้าตัวเล็กแห้ง
การไดร์จะช่วยทำให้ขนและผิวหนังแห้งอย่างรวดเร็ว
ในกรณีที่ปล่อยให้แห้งเอง จึงควรเลือกใช้ช่วงเวลาแบบที่แมวดื้อแนะนำ
หากอาบน้ำเจ้าตัวเล็กในช่วงเวลากลางคืน แล้วปล่อยให้แห้งเอง
หรือแม้แต่เช็ดแห้งหมาดๆ
อาจส่งผลทำให้เกิดเชื้อราตามมา
(ลองนึกถึงการซักแล้วตากผ้าในเวลากลางคืน)
ดังจะเห็นได้ว่าการดูแลรักษา ทำความสะอาดเจ้าตัวเล็กนั้นไม่ใช่เรื่องยาก
แต่ส่วนใหญ่ปัญหาที่พบ เกิดจากผู้เลี้ยง “คิดแทนเหมือนตัวเอง”
รักเจ้าตัวเล็ก ดูแลเขาอย่างถูกต้องเสียตั้งแต่วันนี้
ปิดท้ายด้วย Pet Shower สวยๆ
ที่ในต่างประเทศเห็นความสำคัญของสมาชิกเจ้าตัวเล็กนี้อย่างมาก
จนแบ่งพื้นที่ในบ้าน เพื่อใช้อาบน้ำเจ้าตัวเล็กโดยเฉพาะ
จริงๆ แมวดื้อดูตอนแรกแล้วคิดว่าใช้ร่วมกันกับเด็กหรือเปล่า เพราะดูแล้วขนาดใหญ่พอสมควร
แต่คิดในแง่สุขศาสตร์ พ่อแม่คงไม่อยากให้ใช้ร่วมกันสักเท่าไหร่
เศษคราบความสกปรกต่างๆ เศษขน เผลอๆ มีเห็บหมัดอีก
หากทำความสะอาดไม่ดี เกิดมีเชื้อโรค เด็กไม่สบาย กลายเป็นเรื่องใหญ่ไปอีก
Photo Credit
www.houzz.com/dog-shower