ย้อนกลับไปเมื่อยุคร้านสะดวกซื้อยังไม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหลายๆ คน
จริง ๆ ก็ถือว่าไม่นานมากนะ
แมวดื้อยังมีภาพร้านโชว์ห่วย ขายของจิปาถะ หน้าปากซอยบ้าน อยู่ในหัวอย่างชัดเจน
ภายในร้าน แบ่งเป็นโซนผู้ใหญ่ (ตู้กระจกสำหรับเก็บบุหรี่)
โซนแช่เย็น (สารพัดน้ำอัดลมและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์)
โซนขนมซอง (ขนมคบเคี้ยวต่าง ๆ )
โซนขนมลุ้น (ขนมต่าง ๆ ที่ทางร้านบรรจุเอง อาทิเช่น ตังเม หรือขนมปี๊บ) ที่หากซื้อไปได้ลุ้นว่างวดนี้จะท้องเสียหรือไม่!!
และที่ขาดไม่ได้ ก็คือโซนชิงโชค ที่จะมีทั้งจับสลาก บิงโก ตู้ไข่
ลองนึกๆ ดู ส่วนใหญ่เจ้าของร้าน ก็คือเจ้าของบ้าน ทำเองทุกอย่าง
สั่งของ เก็บของ จัดสินค้า เก็บเงิน ทำความสะอาด
ดูแลความเรียบร้อย รักษาความปลอดภัยเองด้วย
ในภาพยนตร์ไทย เราอาจจะเคยดูฉากที่มีโจรมาปล้นร้านค้าอยู่บ่อย ๆ
ในแง่ความเป็นจริง ก็คงจะมีเหตุการณ์แบบนั้นอยู่บ้าง แต่เราคงไม่ได้รู้ข้อมูลเหล่านั้นสักเท่าไหร่
สิ่งที่พอจะช่วยสร้างความสบายใจ ความปลอดภัยของเจ้าของร้านอยู่ได้บ้าง
ก็คงเป็นเรื่องช่วงเวลาในการเปิดปิดร้าน
บางร้านจะเปิดสาย (หรือเที่ยง) ไปปิดเอาช่วงค่ำๆ
บางร้านก็เปิดเช้าขึ้นมาหน่อย เอาใจลูกค้าเด็กๆ นักเรียน
พอมาถึงยุคร้านสะดวกซื้อแย่งชิงกันครองเมือง
ต้องเรียกว่าแย่งชิงจริงๆ
เพราะบางชุมชน เปิดกันแทบจะเป็นห้องเว้นห้อง หรือไม่ก็ตรงข้ามกัน คนละฝั่งของซอยเล็ก
สิ่งที่จะเป็นหลักประกันความปลอดภัยสวัสดิภาพของพนักงานอยู่ที่จำนวนพนักงานในแต่ละกะนี่แหละ
คือคนเยอะ (คิดว่า) ปลอดภัย
แม้ว่าในความเป็นจริงไม่สามารถใช้ตรรกะนี้มาคิดก็ตาม
เพื่อนที่รักเจ้าของอย่างสุนัขเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สนใจ
เรามักจะเห็นตามร้านสะดวกซื้อต่างๆ มีน้องหมานอนอยู่หน้าร้าน
หรือบางตัวนอนในร้านเลยก็มี
เริ่มแรกอาจมีตัวเดียว พอมีคนเลี้ยง มีที่อยู่ มีอาหาร คราวนี้ก็เริ่มเยอะ
หากตั้งคำถามว่าน้องหมาเหล่านี้ได้ช่วยเหลือ รักษาความปลอดภัยไหม
ก็คงตอบได้ไม่เต็มปากนัก
เพราะส่วนใหญ่ เท่าที่เห็นก็มักจะเชื่องจนใครๆ ก็จับตัวได้
แต่ก็น่าจะมี (ส่วนน้อย) ที่พอจะพึ่งพาได้บ้าง
มีประเด็นนึงที่แมวดื้อออกจะไม่ชอบใจนัก
กับเรื่องการนำน้องหมาน้องแมวน้องกระต่ายหรืออื่นๆ ไปในบริเวณที่มีการจำหน่ายอาหาร
ในฐานะของสัตวแพทย์ แมวดื้อยอมรับถึงความเอาใจใส่ เลี้ยงดูของผู้เลี้ยงในสมัยนี้
ที่รักษาความสะอาด ดูแลสุขภาพ ฉีดวัคซีนอย่างสม่ำเสมอ
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ละเลยในเรื่องสุขอนามัยและข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์
มีเชื้อโรคบางตัว ที่สามารถติดต่อและก่อโรคได้ข้ามสปีชีส์
ในที่นี้ แมวดื้อหมายถึง โรคสัตว์ติดคน (zoonosis)
ยกตัวอย่างเรื่องง่ายๆ ที่มองเห็นจากภายนอก เช่น เชื้อราในสัตว์เลี้ยง สามารถติดต่อไปยังผู้เลี้ยง
ทำให้เกิดอาการคัน เป็นตุ่มวง บางรายติดเชื้อบนหนังศีรษะ มีรังแคมากมาย
เวลาไปพบแพทย์ แต่ไม่ยอมบอกว่าเลี้ยงสัตว์ด้วย การรักษาก็หายช้า บางรายเรียกว่าไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะว่าติดกันไปติดกันมา
นั่นแค่เชื้อโรคที่สามารถพบเห็นอาการได้จากภายนอก
สำหรับเชื้อโรคที่พบง่ายมาก แต่ผู้เลี้ยงไม่ค่อยคำนึงถึง เช่น แบคทีเรียที่อยู่ในน้ำลายสัตว์เลี้ยง
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า มีเรื่องชีววิทยาของแบคทีเรียลึกๆ พอสมควร ที่จะอธิบายการก่อโรค ที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ
ไม่ใช่แค่เอาน้ำลายสัตว์เลี้ยงมาป้ายมือผู้เลี้ยงแล้วจะป่วยเป็นโรค มันมีปัจจัยอยู่หลายส่วนด้วยกัน แต่มันก็ไม่ยากจนโอกาสที่จะเกิดเป็นศูนย์
แมวดื้อขอข้ามตรงจุดนั้นไปนะ
สมมติว่าเราผิวหน้าไม่ค่อยดีในช่วงนี้ อาจผิวแห้ง ผิวมันเกินไป แพ้โฟมล้างหน้า แพ้เครื่องสำอางค์อะไรก็แล้วแต่
แล้วน้องหมามาหอมๆ คิสๆ เลียหน้าตามปกติ
เราก็มีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรีย จนทำให้เกิดสิวตามมา
เห็นไหม ง่ายมาก
ปัญหาที่ตามมาในระยะยาวก็คือ เชื้อดื้อยา
ลองไปถามคุณหมอที่รักษาโรคผิวหนัง หรือแผนกความงาม ดูก็ได้
เมื่อสิบปีก่อน เคยใช้ยาอะไรรักษาสิว
ยาโบราณ พื้นๆ แทบจะรักษาได้หมดทุกตัว
แต่ปัจจุบันยาใหม่ๆ แพงๆ แรงๆ ก็แทบจะเอาไม่อยู่
ในส่วนของระบบทางเดินอาหาร
สมมติว่าผู้เลี้ยง ทานอาหารที่ “ปนเปื้อน” กับแบคทีเรียเข้าไป
หากแข็งแรง ร่างกายก็อาจสามารถกำจัดเชื้อโรคดังกล่าวตามขั้นตอนของการย่อยโดยทั่วไปได้
แต่บางกรณี หากเชื้อโรคมีการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ก็อาจส่งผลทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ท้องเสีย อาเจียน ได้เช่นเดียวกัน
ซึ่งอาจต้องระมัดระวังในเรื่องนี้กับเด็กเล็ก คนสูงอายุ หรือผู้ป่วยภายในบ้าน
เวลามีปัญหาเกิดขึ้นมาก็โทษสัตว์เลี้ยง อาฆาต จะฆ่าให้ตาย
ในจุดนี้ ควรจะต้องกล่าวโทษผู้เลี้ยงเสียมากกว่า
รัก ดูแล เอาใจใส่ สัตว์เลี้ยง แต่ต้องอย่าละเลยการอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ด้วย
ป.ล.วิทยาศาสตร์ ไม่ยากอย่างที่คิด ขอเพียงทำความเข้าใจมัน
ป.ล.รัก ดูแลสัตว์เลี้ยง อย่าอ้าง “เลี้ยงมานานแล้ว” “เมื่อก่อนก็เคยทำ” เพราะเดี๋ยวนี้ความรู้พัฒนาเพิ่มขึ้น เมื่อก่อนไม่มีข้อมูล ปัจจุบันมีข้อมูลมากมาย ผู้เลี้ยงต้องก้าวตามให้ทัน