วันนี้มีเรื่องเล่าจากห้องผ่าตัด
เกี่ยวกับเคสสุนัขตัวหนึ่ง
ที่อยู่ในความเสี่ยง
..อย่างสูง..
ในการที่จะรักษา

สุนัขพันธุ์ชิสุ
อายุ 10++ ปี
มีอาการหนองไหลออกจากช่องคลอด
วินิจฉัยว่าเป็นมดลูกอักเสบ
การรักษานั้นคือการผ่าตัด
ตัดเอามดลูกทิ้งไป

ปัญหาด่านแรก
คือเรื่องอายุ
สุนัขอายุมาก มีความเสี่ยงต่อการวางยาสลบอยู่แล้ว
เนื่องจากการทำงานของตับและไต
ในการที่จะขับเอายาสลบออกจากร่างกายไป

พิจารณาการรักษาร่วมกับเจ้าของ
ซึ่งได้ตัดสินใจผ่าตัดกัน
เสี่ยง..เป็น..เสี่ยง

ภาระอันหนักอึ้งก็ตกมาอยู่ที่หมอทันที
แม้ว่าเจ้าของสุนัขจะได้ทำการเซ็นใบอนุญาตต่างๆ
รวมถึงใบยอมรับผลอันอาจจะเกิดขึ้นได้
จากการผ่าตัด
แต่หมอก็มิอาจสบายใจได้เลย
เนื่องจากต้อง “รับผิดชอบชีวิต”
ในขณะที่ทำการผ่าตัดนั้น

ปัญหาต่อมา
ก็คือโรคมีความรุนแรงและดำเนินมาแล้วช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “เลือดเป็นพิษ”
หากผ่าตัดเรียบร้อยดีแล้ว
ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถจัดการกับสภาวะดังกล่าวได้หรือไม่
ซึ่งมักจะพบได้บ่อยๆ
กว่าเจ้าของจะพามารักษา ก็ไม่ทันการเสียแล้ว

สุนัขน้ำหนัก 5.28 กิโลกรัม
ชั่งน้ำหนัก และเตรียมยาสลบเรียบร้อย
ลดขนาดยาลงไปจากระดับปกติ สำหรับสุนัขอายุมาก
ผลก็คือ ช่วงล่างตั้งแต่อกไปจนถึงหางไม่มีความรู้สึก
(สามารถผ่าตัดได้)
แต่ว่าตั้งแต่อก คอ หัว สามารถขยับไปมาได้
แล่บลิ้น เลียปากตัวเองแพล่บๆ 

ลองคิด ณ ขณะผ่าตัด
หมอกำลังเปิดช่องท้องอยู่
สุนัขก็ส่ายหัวไปมา ราวกับโยกหัว ขณะฟังเพลงร๊อคนั่นแล
ออกจะดูสยองเล็กน้อย
แต่ว่าในแง่การวางยาสลบแล้ว
สิ่งที่ดีที่สุด ก็คือใช้ยาสลบให้น้อยที่สุด
เท่าที่พอจะทำงานได้ ในสภาพไม่เจ็บปวด
ถ้าสุนัขเจ็บปวด ดิ้นรน ก็อาจทำให้เกิดผลเสียมากมายตามมา
เช่น เครื่องมือผ่าตัด อาจไปโดนอวัยวะบางอย่างได้
แต่ถ้าวางสลบลึกเกินไป ก็อาจไม่ฟื้นได้เช่นเดียวกัน

มาถึงตอนนี้ การผ่าตัดก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว
จนใกล้จะเสร็จภาระกิจในช่องท้อง
จู่ๆ เจ้าตัวเล็ก ก็มีอาการ “น้ำลายฟูม”

เหมือนระเบิดลูกใหญ่ลงในห้องผ่าตัด
เมื่อต้องทำอะไรหลายๆ อย่างในคราวเดียว
ต้องดูดเอาน้ำลายออกให้หมด
เพื่อไม่ให้ไปอุดทางเดินหายใจ
เนื่องจากนิสัยของสุนัขตัวนี้
คือชอบเลีย ชอบแล่บลิ้น
ขณะที่ผ่าตัด ยังสามารถแล่บลิ้น เล่นน้ำลายได้
ผลก็คือเกิดน้ำลายจำนวนมาก
ไหนจะต้องจัดการผ่าตัดในช่องท้องให้เสร็จอีก
เวลาเป็นมดลูกอักเสบ
มดลูกก็เปื่อยกว่าปกติ พร้อมจะแตก ฉีกขาดได้ตลอดเวลา
ไหนจะสภาวะเลือดเป็นพิษ
ที่จะทำให้เส้นเลือดเสียความยืดหยุ่นไป
สามารถขาดได้ง่าย และเลือดออกแล้วหยุดค่อนข้างยาก
ดูดน้ำลาย ถือว่าเป็นงานสกปรก ในน้ำลายมีแต่เชื้อโรค
ผ่าตัด ห้ามเลือด ถือว่าเป็นงานสะอาด ต้องทำโดยปราศจากเชื้อโรค
ต้องทำทั้งสองระบบนี้ ไปด้วยกัน จะบ้าตาย
เคสนี้กว่าจะเสร็จ ปาเข้าไป 4 ชั่วโมง
(ปกติ  4 ชั่วโมง สามารถผ่าตัดสุนัขหนักประมาณ 25-30 กิโลกรัม ได้ 2 ตัว)

:shock: :shock:

หลังจากนั้นก็ต้องคอยเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด
ก่อนจะฟื้นเต็มที่ และให้กลับไปรักษาตัวที่บ้านต่อไป
เหนื่อยจนแทบจะเป็นลม